ท่องเที่ยว บันเทิง สาระความรู้

นโยบายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ



นโยบายต่างประเทศ
นโยบายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
                ความหมาย
                สำหรับ นโยบายต่างประเทศ ได้มีผู้ให้ความหมายไว้หลายความหมาย เช่น เจ. ดี. บี. มิลเลอร์ (J. D. B. Miller) ให้คำจำกัดความของคำว่า นโยบายต่างประเทศว่าหมายถึงพฤติกรรม (ของรัฐ) ที่เป็นทางการต่อกิจการภายนอกรัฐ
                เค. เจ. โฮลสติ (K. J. Holsti) ได้ให้ความหมายของนโยบายต่างประเทศว่า หมายถึง เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองระหว่างประเทศ หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะนโยบาย หมายถึง การตัดสินใจต่าง ๆ ที่มีเป้าหมาย เพื่อการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายนั้น ๆ ดังนั้น นโยบายต่างประเทศจึงเป็นการกระทำต่าง ๆ ของรัฐภายใต้การตัดสินใจและนโยบายเพื่อการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐด้วยกัน
                เคลาส์ คนอร์ (Klaus Knorn) อธิบายว่า นโยบายต่างประเทศ หมายถึง การที่รัฐใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ของตนในการสัมพันธ์กับรัฐอื่น ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ
ที. บี. มิลลาร์ (T. B. Millar) กล่าวว่านโยบายต่างประเทศ เป็นเรื่องเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลของประเทศหนึ่งกับประเทศอื่น ๆ
จาก ความหมายดังที่กล่าวมา พอสรุปได้ว่านโยบายต่างประเทศ หมายถึงวิธีดำเนินการเพื่อการนำไปปฏิบัติที่มุ่งเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือการ ตัดสินใจของประเทศอื่น ๆ เพื่อประโยชน์ของประเทศตน การกระทำเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ความสำคัญของนโยบายต่างประเทศ
                นโยบายต่างประเทศ มีส่วนเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และระหว่างตัวแสดงต่าง ๆ ซึ่งก่อให้เกิดสันติภาพหรือความขัดแย้งขึ้นได้ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นพื้นฐาน สำคัญ ซึ่งประเทศต่าง ๆ มักจะดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อให้ฝ่ายตนได้เปรียบหรือได้ประโยชน์มากกว่า อีกฝ่ายหนึ่งเสมอ ดังนั้น การดำเนินนโยบายต่างประเทศ จึงมีความสำคัญอยู่ 2 ประการ ดังนั้น
                1. การรักษาเอกราชและความมั่นคง นโยบายต่างประเทศของแต่ละประเทศจะมีลักษณะมุ่งต่อต้านการขยายตัวของประเทศ อื่น ๆ ที่เห็นว่าเป็นภัยอันตรายต่อเอกราชและความมั่นคงของประเทศตน สมมุติฐานที่ว่า หากรัฐของตนเกิดความรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย ก็จะมุ่งขยายอำนาจของรัฐ กรณีตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกามีความรู้สึกวิตกกังวลถึงความไม่ปลอดภัยของตน กรณีประเทศอิรักสะสมและผลิตอาวุธชีวภาพ จึงหาทางบีบด้วยวิธีการทางการทูต จนในที่สุดต้องใช้กำลังทหารเข้าทำสงครามและยึดครองประเทศอิรักอยู่ใน ปัจจุบันนี้ เป็นต้น กล่าวโดยสรุปได้ว่าเอกราชและความมั่นคงของประเทศเป็นหลักการสำคัญประการ หนึ่งในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ
                2. การแสวงหาและคุ้มครองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การดำเนินนโยบายต่างประเทศ ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีความสำคัญควบคู่กับผลประโยชน์ทางการเมือง ชาติมหาอำนาจจะใช้นโยบายทางเศรษฐกิจการค้าขายและการให้ความช่วยเหลือทาง เศรษฐกิจ เพื่อแผ่ขยายลัทธิอุดมการณ์ วัฒนธรรม และเพิ่มอิทธิพลของตนในประเทศอื่น ๆ เช่น การใช้การค้าเพื่อเสริมสร้างฐานะทางเศรษฐกิจ และการทำให้ประเทศอื่น ๆ ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของตน เช่น สหรัฐอเมริกาสนับสนุนให้เอกชนของตนเข้าไปลงทุนกิจการอุตสาหกรรมในประเทศ กำลังพัฒนา ซึ่งมีความสำคัญด้านยุทธศาสตร์ทางการเมือง เช่น ลงทุนด้านกิจการน้ำมัน ในเวเนซุเอลา ลิเบีย และซาอุดีอาระเบีย ลงทุนด้านกิจการเหมืองแร่ เกษตรกรรม และโทรศัพท์ในประเทศลาตินอเมริกา รวมทั้งการเป็นประเทศคู่ค้าที่ได้เปรียบต่อประเทศในแถบลาตินอเมริกา เป็นต้น โดยใช้วิธีการต่าง ๆ ได้แก่ การยกเว้นอัตราภาษีขาเข้า การตั้งกำแพงภาษี หรือการจำกัดประเภทสินค้าขาเข้า เป็นต้น
                นอกจากการค้าแล้ว การให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินนโยบาย ต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่าง ๆ ด้วยการกู้ยืมหรือการให้เปล่า ขณะเดียวกันก็จะพยายามสร้างอิทธิพลทางด้านจิตวิทยาควบคู่ไปด้วย ได้แก่การให้ความช่วยเหลือทางด้านการทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ การเผยแพร่อุดมการณ์ลัทธิความเชื่อ และวัฒนธรรมในรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้น

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
                ความหมาย
                ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  หมายถึง  การแลกเปลี่ยนและปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นข้ามเขตพรมแดนของรัฐ  ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยรัฐหรือตัวแสดงอื่นๆที่ไม่ใช่รัฐ ส่งผลถึงความร่วมมือหรือความขัดแย้งระหว่างประเทศต่างๆในโลก
                ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  กลุ่มบุคคล  หรือสังคม  ซึ่งเกิดขึ้นข้ามขอบเขตของกลุ่มสังคมการเมืองหนึ่งๆ  ในกรณีความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยด้วยกัน  หรือกลุ่มของคนไทยด้วยกันในประเทศ  ไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  แต่ความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับคนลาวถือว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือ  และความขัดแย้งระหว่างประเทศ  ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขในสังคม



ลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
                ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  หรือการแลกเปลี่ยนและปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นข้ามพรมแดนของรัฐอาจมีลักษณะความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการโดยรัฐ  หรือโดยตัวแทนที่ชอบธรรมของรัฐ  เช่น  การประชุมสุดยอด  การดำเนินการทางการทูต  การแถลงการณ์ประท้วง  การยื่นประท้วงต่อองค์การสหประชาชาติ  หรืออาจเป็นการกระทำไม่เป็นทางการ  เช่น  การก่อการร้าย  การกระทำจารกรรม  การโจมตีประเทศหนึ่งโดยสื่อมวลชนอีกประเทศหนึ่งซึ่งไม่ได้กระทำการโดยนามของรัฐ  เป็นต้น  และอาจกลายเป็นความสัมพันธ์ในลักษณะขัดแย้ง  เช่น  สงคราม  การแทรกแซงบ่อนทำลาย  การขยายจักรวรรดินิยม  การผนวกดินแดนของอีกประเทศหนึ่ง  เป็นต้น  อย่างไรก็ตาม  ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือการแลกเปลี่ยนในลักษณะของความร่วมมือส่วนใหญ่กระทำในลักษณะต่างๆ  เช่น  การกระชับความสัมพันธ์ทางการทูต  การ่วมมือเป็นพันธมิตร  การให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ  การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและวัฒนธรรม  เป็นต้น  ความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้อาจมีลักษณะผสมผสานกันได้  เช่น  บางครั้งรุนแรง  บางครั้งนุ่มนวล  บางครั้งเป็นทางการ  บางครั้งกึ่งทางการ  หรือบางครั้งร่วมมือในเรื่องหนึ่ง  แต่ขัดแย้งในอีกเรื่องหนึ่ง  เป็นต้น
ขอบเขตของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีขอบเขตครอบคลุมเรื่องต่างๆ  ดังนี้
                1.    ความสัมพันธ์ทางการเมือง  หมายถึง  กิจกรรมข้ามพรมแดนเพื่อมีอิทธิพลหรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตลอดจนการตัดสินใจขอบองคฺการหรือรัฐบาลต่างประเทศ  เช่น  การดำเนินการทางการทูต  การทหาร  การแสวงหาพันธมิตร  กี่แทรกแซงบ่อนทำลายของประเทศอื่น  การใช้กำลังบีบบังคับ  การกำหนดและการดำเนินนโยบายต่างประเทศ  เป็นต้น  กิกรรมบางเรื่องอาจไม่เป็นกิจกรรมการเมืองโดยตรง  แต่หากมีวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น  ก็ถือเป็นกิจกรรมการเมืองเช่นกัน  เช่น  การแลกเปลี่ยนทีมนักปิงปองระหว่างสหรัฐอเมริการและสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี  พ.ศ.  2514  มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองเนื่องจากประเทศทั้งสงอิต้องการใช้กีฬาเป็นเครื่องมือผ่อนคลายความตึงเครียด  และรื้อฟื้นความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ  หลังจากเป็นศัตรูกันตลอด  กิจกรรมเช่นนี้เรียกว่า  การเมืองระหว่างประเทศ
                2.    ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ  หมายถึง  กิจกรรมการแลกเปลี่ยนด้านทรัพยากรด้านการบนิการหรือวัตถุเพื่อตอบสนองความต้องการในการอุปโภคของผู้แลกเปลี่ยน  เช่น  การซื้อขายสินค้า  การให้ทุนกูยืม  การธนาคาร  เป็นต้น  เนื่องจากแต่ละประเทศมีทรัพยากรแตกต่างและไม่เท่าเทียมกัน  และยังต้องการทรัพยากรของประเทศอื่นหรือบางประเทศ  เช่น สหรัฐอเมริกามีทรัยยากรน้ำมัน  แต่ยังต้องการรักษาน้ำมันสำรองในปัจจุบันึงซื้อน้ำมันจากประเทศเม็กซิโกและประเทศอาหรับ  ความต้องการทรัพยากรซึ่งกันและกันเช่นนี้ทำให้เกิดความสัมพันธ์เพื่อแลกเปลี่ยนทรัพยสกร  (วัตถุดิบ  ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม  เกษตรกรรม  เทคโนโลยี  บริการ  ฯลฯ)  โดยวิธีการต่างๆไม่ว่าโดยการซื้อขาย  ให้  แลกเปลี่ยน  ยืม  ก็ตาม  โดยมีเกณฑ์หรือแนวทางปฏิบัติบางประการทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ  เช่น  การกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร  การปิดล้อมทางเศรษฐกิจ  การตั้งกำแพงภาษี  การกำหนดอัตราหุ้นและดอกเบี้ย  เป็นต้น  ความสัมพันธ์ทางเศรษกิจเช่นนี้  เรียกว่า  เศรษฐกิจระหว่างประเทศ
                3.    ความสัมพันธ์ทางสังคม  หมายถึง  กิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์ในการแลกเปลี่ยนทางการศึกา  การศาสนา  วัฒนธรรม  การพักผ่อนหย่อนใจ  การท่องเที่ยว  ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ทางสังคมข้ามขอบเขตพรมแดนของรัฐ  เช่น  กางส่งทูตวัฒนธรรมหรือคณะนาฏศิลป์ไปแสดงประเทศต่างๆ  การเผยแพร่ศาสนาโดยตัวแทนทางศาสนาของประเทศอื่น  การเผยแพร่ศิลปะของประเทศหนึ่งในประเทศอื่น  เป็นต้น
                4.    ความสัมพันธ์ทางกฏหมาย  ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเมื่อมีการแลกเปลี่ยนและปฏิสัมพันธ์ข้ามเขตพรมแดนของรัฐมากขึ้น  เพื่อให้กิจกรรมดังกล่าวดำเนินไปโดยเรียบร้อยและมีระบียบแบบแผน  ประเทศต่างๆ  จึงได้กำหนดกฏเกณฑ์  ระเบียบ  หรือแนวทางปฏิบัติที่แต่ละปนะเทศพึงยึดถือปฏิบัติในด้านต่างๆขึ้น  กฏเกณฑ์หรือระเบียบนี้อาจปรากฏในรูปข้อตกลงลายลักษณ์อักษร  ซึ่งมีชื่อเรียกต่างๆกัน  เป็นต้นว่า  สนธิสัญญา  อนุสัญญา  กติกาสัญญา  กฏบัตร  ความตกลง  ฯลฯ  หรืออาจเป็นความเข้าใจกันซึ่งแต่ละฝ่ายยึดถือปฏิบัติโดยไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรได้  ซึ่งเรียกว่า  กฏหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ  อย่างไรก็ตาม  กฏระเบียบที่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือจารีตประเพณีต่างเรียกว่า  กฏหมายระหว่างประเทศทั้งสิ้น  โดยมีวัตถุประสงค์ให้รัฐหรือตัวแสดงอื่นๆ  ระหว่างประเทศได้ประพฤติปฏิบัติตนตามกติกาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างกัน  และเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคมโลก  ซึ่งครอบคลุมความสัมพันธ์ด้านต่างๆ  ได้แก่  ด้านการเมือง  เช่น  สนธิสัญญาทางพันธมิตร  สนธิสัญญาทางไมตรี  กฏบัตรสหประชาชาติ  เป็นต้น  ด้านเศรษฐกิจ  เช่น  สนธิสัญญาจัดตั้งกองทุนระหว่างประเทศ  ข้อตกลงเรื่องการค้าและพิกัดอัตราภาษีศุลกากร  เป็นต้น  ด้านสังคม  เช่น  สิทธิมนุษยชน  การแลกเปลี่ยนทางด้านการศึกษาและวัฒนธรรม  ด้านเทคโนโลยี  เช่น  ความตกลงเรื่องการค้นคว้าในอวกาศ  เป็นต้น
                5.    ความสัมพันธ์ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ความสัมพันธ์ประเภทนี้มุ่งให้มีการแลกเปลี่ยนพัฒนาความรู้และความช่วยเหลือทางด้านวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี  เช่น  มีการร่วมมือกันค้นคว้าทดลอง  และวิจัยบริเวณทวีปแอนตาร์กติกา การร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาตร์หลายประเทศ  เพื่อกำจัดโรคภัยไข้เจ็บ  เช่น  โรคมะเร็ง  การร่วมมือกันส่งเสริมพัฒนาด้านวิทยาศาตร์  เช่น  การให้รางวัลระหว่างประเทศ  จัดการประชุมสัมนาระหว่างประเทศ  เป็นต้น

นโยบายความสัมพันธ์ของไทยกับนานาประเทศ
                การศึกษานโยบายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับนานาประเทศนั้น สิ่งแรกที่ควรพิจารณาคือ ปัจจัยของการกำหนดนโยบายต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้เข้าใจถึงลักษณะของนโยบายต่างประเทศ ตลอดจนผลและแนวโน้มของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับนานาประเทศ
ประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกา
นโยบายต่างประเทศของไทยต่อสหรัฐอเมริกา
                1. ปัจจัยภายใน ปัจจัยภายในที่กำหนดนโยบายต่างประเทศที่สำคัญ คือ
                                1) การเมือง ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมารัฐบาลที่ทำการปกครองประเทศส่วนใหญ่เป็นรัฐบาลภายใต้ผู้นำทหารที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร ซึ่งมีอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมและต่อต้านคอมมิวนิสต์คล้ายกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมหาอำนาจเพียงประเทศเดียวที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ที่มีนโยบายสอดคล้องกับตน เช่น ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ.2501พ.ศ. 2506) และรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร (พ.ศ. 2506พ.ศ. 256) ซึ่งจะปราบปรามกลุ่มผู้ต่อต้านอำนาจการปกครองของตนโดยยัดเยียดข้อหาว่ามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกันปฏิบัติการทางทหารในสงครามอินโดจีน เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์อีกด้วย
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 นอกจากจะเป็นการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการทหารแล้ว ยังทำให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนในการตัดสินนโยบายต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีความรู้สึกชาตินิยมเห็นว่าการมีกองกำลังของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย เป็นการเสียอำนาจอธิปไตยและเสื่อมเสียศักดิ์ศรีของชาติ ประกอบกับสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศซึ่งเปลี่ยนแปลงไป เช่น การผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตทำให้การเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกาอย่างแน่นแฟ้นในลักษณะเช่นที่เป็นมา ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ไทยอีกต่อไป กลุ่มนิสิตนักศึกษาจึงได้เดินขบวนประท้วงและขับไล่กองทัพสหรัฐอเมริกาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2518 ขณะเดียวกัน ม.ร.ว. ศึกฤกธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีขณะนั้นได้ยื่นคำขาดให้สหรัฐอเมริกาถอนทหารของตนออกจากประเทศไทยโดยเร็ว
การปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.ศึกฤทธิ์ ปราโมช ในปี พ.ศ. 2518 และรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในปี พ.ศ. 2519 ที่ต้องการปรับความสัมพันธ์กับประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนนั้น สืบเนื่องจากสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปลี่ยนแปลงไป คือ สหรัฐอเมริกาถอนตัวออกจากสงครามอินโดจีน มีการปรับความสัมพันธ์อันดีระหว่างสหรัฐอเมริกาและสาธารณรับประชาชนจีนในปี พ.ศ. 2515 ในขณะที่เขมร เวียดนามใต้ และลาวตกอยู่ภายใต้การยึดครองของคอมมิวนิสต์อย่างสิ้นเชิงในปี พ.ศ. 2518 ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลผลักดันให้ไทยต้องปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศ
                                2) การพัฒนาประเทศ เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง ประเทศไทยตกอยู่ในสภาวะที่ต้องรับผลกระทบจากสงครามสหรัฐอเมริกาเป็นมหาอำนาจประเทศเดียวในขณะนั้นที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือฟื้นฟูแก่ประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ การมุ่งแสวงหาความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาประเทศจึงเป็นปัจจัยที่ทำให้ไทยเห็นประโยชน์จากการมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งสหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี เช่น การให้เงินช่วยเหลือเพื่อซ่อมแซมทางรถไฟ และจัดหาอุปกรณ์สำคัญในการสร้างระบบคมนาคมขนส่งต่าง ๆ ซึ่งถูกทำลายไปในระหว่างสงคราม รวมทั้งการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านการทหารให้แก่ไทย เพื่อต่อต้านทั้งการแทรกซึมบ่อนทำลายและการโจมตีจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ในขณะเดียวกันทางด้านเศรษฐกิจและสังคมนั้น ประเทศไทยได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ผนวกความจำเป็นในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเข้าเป็นส่วนหนึ่งควบคู่ไปกับการพัฒนาทางด้านการทหารของไทย สหรัฐอเมริกาจึงได้กลายเป็นประเทศที่ให้ความช่วยเหลือต่อไทยมากที่สุดนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างไรก็ตามหลังสิ้นสุดสงครามเวียดนาม ความช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกาต่อไทยโดยเฉพาะความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ ได้ลดน้อยลงจนเป็นรองจากความช่วยเหลือที่ไทยได้จากประเทศญี่ปุ่น
                2. ปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายนอกที่กำหนดนโยบายของไทยต่อสหรัฐอเมริกา คือ
                                1) การเมืองระหว่างประเทศ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยภายนอกที่สำคัญ ได้แก่ ภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะจากจีน และสหภาพโซเวียต โดยที่ไทยและสหรัฐอเมริกา มีแนวความคิดสอดคล้องกันที่ต้องการต่อต้านและปิดล้อมการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ ดังนั้น บรรยากาศการเผชิญหน้าระหว่างลัทธิคอมมิวนิสต์กับอุดมการณ์ประชาธิปไตยได้ทำให้สหรัฐอเมริกา ซึ่งเห็นว่าตนจะต้องเป็นผู้นำในการปกป้องลัทธิเสรีนิยมและอุดมการณ์ประชาธิปไตยจากการแพร่ขยายและการแทรกซึมของลัทธิคอมมิวนิสต์ในทุก ๆ แห่งของโลก จึงได้ให้ความสำคัญต่อประเทศไทยในฐานะประเทศพันธมิตรและเป็นประเทศที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ และเป็นตัวแทนของโลกเสรีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ได้ดำเนินนโยบายที่สอดคล้องและที่ตอบสนองและสนับสนุนสหรัฐอเมริกาเช่นกัน การจัดตั้งองค์การสนธิสัญญาป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) และแถลงการณ์ร่วม ถนัด-รัสก์ (Thanat-Rusk Joint Communiqués) ได้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์และความร่วมมือทางด้านความมั่นคงที่ใกล้ชิดระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา ตลอดระยะเวลาของสงครามเวียดนาม ไทยได้ให้ความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกา อย่างมาก ในขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกา ก็ได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านความมั่นคงเป็นจำนวนมากแก่ไทยเช่นกัน นับได้ว่าทั้งสองประเทศได้พึ่งพาอาศัยกันบนผลประโยชน์ร่วมกันมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการที่สหรัฐอเมริกาได้ถอนกำลังทางทหารออกจากเวียดนาม ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศได้เปลี่ยนมาเป็นความร่วมมือทางด้านการเมืองมากยิ่งขึ้น อาทิ ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหากัมพูชา โดยสหรัฐอเมริกาได้ให้ความสนับสนุนทางด้านการเมือง และความพยายามของประเทศอาเซียนในการแก้ไขปัญหาโดยวิถีทางการเมือง สำหรับความสัมพันธ์ทางด้านความมั่นคงและการทหารก็ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่มิได้อยู่ในระดับที่ใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกายังคงมองเห็นว่าไทยเป็นพันธมิตรทางทหารที่สำคัญ
                ปัจจุบัน ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงระหว่างไทย สหรัฐอเมริกา ยังเป็นไปโดยใกล้ชิด ทั้งความร่วมมือทางทหาร และความร่วมมือในกรอบการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศโดยเฉพาะในเวที ARF (ASEAN Regional Forum) ซึ่งประเทศไทยมีปฏิสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา ด้วยดีเสมอมา นอกจากนี้ ความร่วมมือด้านการปราบปรามยาเสพติดยังถือเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญต่อความร่วมมือระหว่างกัน ภายหลังวันที่ 11 กันยายน 2544 เป็นต้นมา ความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้ายเป็นประเด็นใหม่ในนโยบายด้านการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา และเป็นปัจจัยสำคัญในการชี้วัดระดับความสัมพันธ์ในทุก ๆ ด้าน ระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศต่าง ๆ ไทยได้ให้ความร่วมมือด้วยดีกับสหรัฐอเมริกา และนานาประเทศในการต่อต้านการก่อการร้าย โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย การตรวจคนเข้าเมือง ตลอดจนการสกัดเส้นทางการเงินของผู้ก่อการร้าย รวมทั้งการเร่งเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศในการต่อต้านการก่อการร้ายต่าง ๆ ซึ่งสหรัฐอเมริกาพอใจในบทบาทที่สร้างสรรค์ต่อการแก้ไขปัญหาข้ามชาติต่าง ๆ รวมทั้งการป้องกันและการต่อต้านการก่อการร้ายอย่างแข็งขันของไทย
                                2) นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริกาเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคเอเชีย ภายหลังสมครามโลกครั้งที่ 2 ในสมัยประธานาธิบดีแฮรี่ เอส ทรูแมน ( Harry S. Truman) ซึ่งหลักการ ทรูแมน (Truman doctrine ) สิ่งให้คำมั่นสัญญาว่าสหรัฐอเมริกาจะช่วยเหลือทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร แก่ประเทศที่ถูกคุกคามด้วยลัทธิคอมมิวนิสต์ และจะเทรกแซงในวิกฤตการณ์อันเกิดจากการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคเอเชีย โดยมีความเชื่อในทฤษฎีโดมิโน (Domino theory) ว่าหากกลุ่มประเทศอินโนจีนเปลี่ยนระบอบการปกครองไปเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งประเทศตะวันออกกลางก็จะตกเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ไปด้วยในที่สุด ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเสถียรภาพและความปลอดภัยมั่นคงของยุโรป ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สหรัฐอเมริกาเข้ามามีบทบาทเต็มที่ในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ให้เอเชีย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2511 ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงาครั้งยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกาในสงครามเวียดนาม
                ในสงครามเวียดนามเนื่องจากความเบื่อหน่ายของชาวอเมริกันที่ไม่ทราบว่า สงครามเวียดนามจะสิ้นสุดลงเมื่อไร และไม่มีทีท่าว่าสหรัฐอเมริกาจะประสบชัยชนะ รวมทั้งไม่เห็นความสำคัญของเวียดนามต่อผลประโยชน์ของชาติสหรัฐอเมริกา ผนวกกับการเปลี่ยนแปลงในสภาพการเมืองระหว่างประชาชนจีน ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องถอนกำลังทหารออกจากเวียดนาม และนำนโยบายของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (Richard M. Nixon) หรือที่รู้จักในนามของหลักการนิกสัน (Nixon Doctrine) หรือหลักการเกาะกวม (Guam Doctrine) มาใช้เป็นนโยบายของสหรัฐอเมริกากับภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ซึ่งสหรัฐอเมริกาจะคงรักษาพันธกรณีตามสนธิสัญญาทั้งมวลที่มีอยู่ และจะให้ความคุ้มครองแก่ประเทศใด ๆ ที่ถูกคุกคามจากประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ และการคุกคามดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาหรือต่อภูมิภาค หากมีการรุกรานในลักษณะอื่น สหรัฐอเมริกาจะให้ความช่วยเหลือทั้งทางทหารและเศรษฐกิจเท่าที่เห็นสมควร โดยให้ประเทศที่ถูกคุกคามโดยตรงเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการจัดหากำลังคนเพื่อป้องกันเอง
                จากการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ ทำให้สหรัฐอเมริกาลดบทบาทของตนลง ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ต้องตกอยู่ภายใต้การแข่งขันอิทธิพลของสหภาพโซเวียดและสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ไทยต้องปรับนโยบายต่างประเทศใหม่ให้สอดคล้องกับสหรัฐอเมริกา ด้วยการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน และเน้นการพึ่งตนเองมากขึ้นกว่าเดิม
                อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือแก่ไทยทางด้านการเมือง เช่น สนับสนุนร่างข้อมติของไทยและอาเซียนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหากัมพูชาในที่ประชุมสหประชาชาติ การเพิ่มความช่วยเหลือทางด้านกำลังอาวุธ ช่วยเหลือในปัญหาผู้ลี้ภัย เป็นต้น รวมทั้งการให้คำยืนยันต่อรัฐบาลไทยที่จะให้ความช่วยเหลือเมื่อถูกคุกคาม
                ปัจจุบันนโยบายต่างประเทศที่สหรัฐอเมริกาดำเนินกับไทยอย่างต่อเนื่องมีทั้งความร่วมมือทางทหารและความมั่นคงอย่างใกล้ชิด โดยใช้โครงการความช่วยเหลือทั้งด้านการค้า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การศึกษา สาธารณสุข เพื่อสานสัมพันธ์และเชื่อมโยงระดับสังคมและประชาชน นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมด้านการพัฒนาประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอีกด้วย ขณะเดียวกันก็ได้ผลักดันให้ประเทศต่าง ๆ ใช้นโยบายการเปิดตลาดการค้าเสรี โดยเฉพาะด้านการเงิน การธนาคาร และโทรคมนาคม ในขณะที่ประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาครวมทั้งญี่ปุ่นเห็นว่าการเปิดเสรีทางการค้าควรคำนึงถึงความพร้อมของแต่ละประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาจะคงกดดันให้ประเทศไทยเร่งปรับปรุงมาตรฐานการค้า โดยเฉพาะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา แรงงาน และสิ่งแวดล้อม และมีความเป็นไปได้ที่จะใช้มาตรการทางภาษีและไม่ใช่ภาษี รวมทั้งการให้สิทธิประโยชน์ฝ่ายเดียวมาเป็นเครื่องมือ
                                3) ลักษณะนโยบายต่างประเทศของไทยต่อสหรัฐอเมริกา ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาเริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อสหรัฐอเมริกาส่งนายเอ็ดมันด์ รอเบิร์ต (Edmund Robert) ทูตอเมริกันคนแรกเข้ามาทำสนธิสัญญาฉบับแรกกับไทยในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 จนถึงปัจจุบันนี้ อาจกล่าวได้ว่า ไทยและสหรัฐอเมริกามีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมากกว่าจะมีความขัดแย้งกัน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศตะวันตกอื่น ๆ เช่น อังกฤษหรือฝรั่งเศส ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่าสหรัฐอเมริกาไม่ได้มีลักษณะคุกคามต่ออำนาจอธิปไตยของไทย นอกจากนั้น ชาวอเมริกันหลายคนได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินของไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 7 และได้มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือให้ไทยได้แก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคที่ไทยทำกับประเทศมหาอำนาจตะวันตก เช่น นายฟรานซิส บี แซร์ (Francis B. Syre) ที่ปรึกษาชาวอเมริกันสมัยรัชกาลที่ 6 ที่ได้ช่วยเหลือในการปรับปรุงระบบราชการและกิจการบ้านเมืองอื่น ๆ อีกด้วย จากความสัมพันธ์ของไทยกับสหรัฐอเมริกาดังกล่าว จึงขอจำแนกลักษณะนโยบายต่างประเทศของไทยต่อสหรัฐอเมริกาออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้
                1. ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ลักษณะนโยบายต่างประเทศของไทยต่อสหรัฐอเมริกาช่วงที่เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 24882516 ลักษณะนโยบายที่สำคัญในช่วงนี้ คือ การต่อต้านการครอบครองดินแดนไทยโดยมหาอำนาจหนึ่ง โดยไทยและสหรัฐอเมริกาได้ร่วมมือกันต่อต้านการขยายอิทธิพลของญี่ปุ่นเพื่อครอบครองดินแดนในเอเชียในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง (พ.ศ. 2484พ.ศ.2488) มีการจัดตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น และหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกาได้ช่วยให้ไทยรอดพ้นจากการถูกปฏิบัติเยี่ยงประเทศผู้แพ้สงครามจากประเทศมหาอำนาจพันธมิตร นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกันต่อต้านการคุกคามของประเทศใดประเทศหนึ่งต่อประเทศอื่น โดยเน้นการต่อต้านการคุกคามโดยการรักษาความมั่นคงป่ลอดภัยร่วมกันในระดับภูมิภาค เช่น การจัดตั้งองค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียอาคเนย์ พ.ศ. 2497 เป็นต้น และการสนับสนุนองค์การระดับโลก เช่น องค์การสหประชาชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกันในกรณีปัญหาต่าง ๆ เช่น กรณีปัญหาเกาหลี (พ.ศ. 2493พ.ศ. 2496) ได้ส่งทหารเข้าร่วมกับทหารขององค์การสหประชาชาติ ซี่งนำโดยสหรัฐอเมริกาในสงครามเกาหลี และกรณีสงครามอินโดจีน (พ.ศ. 2497พ.ศ. 2516) เป็นต้น
สำหรับนโยบายการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ไทยให้ความช่วยเหลือสหรัฐอเมริกาในกรณีเวียดนาม คือ การยอมให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทยเพื่อปฏิบัติการในประเทศอินโดจีน เป็นต้น ในขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกาก็ได้ให้ความช่วยเหลือไทยทั้งทางด้านเศรษฐกิจ เทคนิควิทยาการ สังคม และทางทหาร เพื่อต่อต้านขบวนการคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ต่อประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ให้เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับนโยบายของสหรัฐอเมริกาต่อประเทศนั้น ๆ ด้วย โดยเฉพาะในกรณีความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน
                2. หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ลักษณะนโยบายต่างประเทศของไทยต่อสหรัฐอเมริกาช่วงที่เริ่มขึ้นหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 - 2522 นโยบายของไทยต่อสหรัฐอเมริกาที่สำคัญในช่วงนี้คือ การที่ไทยขอให้สหรัฐอเมริกาถอนฐานทัพออกจากไทย ขณะเดียวกันได้เกิดกรณีปัญหาเรือมายาเกซ โดยสหรัฐอเมริกาได้ส่งทหารนาวิกโยธินผ่านประเทศไทยเพื่อยึดเรือมายาเกซซึ่งเป็นเรือของสหรัฐอเมริกาที่ถูกเขมรแดงยึดเอาไว้กลับคืน ซึ่งการกระทำของสหรัฐอเมริกาดังกล่าวไม่ได้ขออนุญาตหรือปรึกษารัฐบาลไทยแต่อย่างใด ซึ่งไทยถือว่าเป็นการล่วงละเมิดอธิปไตยของไทย ซึ่งมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ เวียดนาม กัมพูชา และลาว การกระทำดังกล่าวทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาตกต่ำมากที่สุดเท่าที่ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์กันมา
                3. ลักษณะนโยบายต่างประเทศปัจจุบัน นับจากปี พ.ศ. 2522 จนกระทั่งปัจจุบัน ลักษณะนโยบายต่างประเทศของไทยต่อสหรัฐอเมริกา ในช่วงดังกล่าวกัมพูชาถูกเวียดนามรุกราน และโดยเฉพาะเมื่อเวียดนามบุกรุกดินแดนไทยในกรณีโนนหมากมุ่นในปี พ.ศ. 2523 ทำให้ไทยเห็นความจำเป็นในการป้องกันตนเองจากภัยคุกคามของเวียดนามซึ่งมีทหารยึดครองกัมพูชาอยู่ราว 200,000 คน สหรัฐอเมริกาได้ยืนยันถึงพันธกรณีและความช่วยเหลือที่จะให้ต่อไทยทางด้านความมั่นคง ซึ่งสอดคล้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชียที่ต่อต้านการแผ่ขยายอิทธิพลของสหภาพโซเวียตโดยผ่านเวียดนามในลาวและกัมพูชา
นโยบายต่างประเทศของไทยต่อสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นนโยบายฝักใฝ่โลกเสรีที่เคยถูกกำหนดมาเป็นเวลามากกว่า 10 ปี ในช่วงสงครามเย็นระหว่างอภิมหาอำนาจค่ายโลกเสรีและค่ายคอมมิวนิสต์ได้ถึงจุดแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างเด็ดขาด ในยุคสิ้นสงครามเย็นในปี พ.ศ. 2533 เมื่อสหภาพโซเวียต ล่มสลาย ซึ่งนับเป็นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญอีกยุคหนึ่งของนโยบายของประเทศไทย ซึ่งไทยได้ดำเนินนโยบายเป็นมิตรกับทุกฝ่าย หรือนโยบายรอบทิศทางด้วยการเป็นมิตรกับทุกค่ายและนานาประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยพิจารณาถึงสถานการณ์โลกในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การสิ้นสุดสงครามเย็นและการสร้างระเบียบโลกใหม่ ความเข้มข้นของสงครามการค้า การรวมกลุ่มเศรษฐกิจหลาย ๆ กลุ่มทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงในอินโดจีน โดยให้ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความสำคัญเป็นอันดับแรก ตามด้วยประเทศคู่ค้าที่สำคัญคือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และประชาคมยุโรป
ในส่วนของการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของไทยนั้น ย่อมต้องคำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติโดยรวมเป็นหลัก รวมทั้งต้องยอมสละประโยชน์รองเพื่อประโยชน์หลัก ทั้งนี้ การมีท่าทีที่แข็งกร้าวหรือแตกต่างจากสหรัฐอเมริกา ย่อมทำได้ หากมีการจำแนกดุลยภาพของผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง และการเมืองที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์การก่อการร้ายในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการวางกรอบนโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาโดยสหรัฐอเมริกาจะต้องคำนึงถึงความร่วมมือในกรอบความมั่นคงและการเมืองมากขึ้น บทบาทและท่าทีของประเทศต่าง ๆ ในการให้ความร่วมมือด้านการก่อการร้ายจะมีผลต่ออำนาจต่อรองกับสหรัฐอเมริกา ดังนั้น การกำหนดท่าทีในเรื่องนี้ของไทยจึงมีความสำคัญมาก เพราะจะมีประโยชน์โดยตรงต่อการเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของไทยในระยะต่อไป สำหรับความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา ได้พัฒนาไปสู่ความสัมพันธ์ในลักษณะของหุ้นส่วนมากขึ้น ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศเล็ก แต่ก็มีความสำคัญในทางการเมือง เศรษฐกิจ และยุทธศาสตร์ในภูมิภาค ดังนั้น ไทยจึงโน้มน้าวให้สหรัฐอเมริกาตระหนักถึงความสำคัญและศักยภาพของไทยในด้านดังกล่าว โดยเฉพาะในการเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคม การศึกษา และเป็นแหล่งลงทุนที่สำคัญของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาค
สิ่งที่พอจะสรุปได้ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาคือ ความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศ แม้ดูจะไม่ราบรื่นโดยตลอด แต่มีลักษณะเด่นที่ว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ตั้งอยู่บนพื้นฐานความสัมพันธ์อันดีต่อกัน แต่จะแน่นแฟ้นเพียงใด ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์สอดคล้องต้องกันมากน้อยเพียงใด

ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับสหรัฐอเมริกา
ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับสหรัฐอเมริกา แบ่งออกได้ 4 ด้านดังนี้
                1. ด้านการทหาร ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาทางด้านการทหารเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2493 ด้วยนโยบายสกัดกั้นคอมมิวนิสต์ของสหรัฐอเมริกาที่มุ่งให้ความสำคัญแก่การก่อตั้งระบบความมั่นคงร่วมกันในการต่อต้านการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ และการขยายอิทธิพลของสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งนี้เพื่อตอบสนองต่อผลประโยชน์ทางด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของไทย ทั้งจากภัยคุกคามจากภายนอกคือการขยายอำนาจของประเทศอื่น และภัยจากภายในคือการแทรกแซงบ่อนทำลายพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ไทยและสหรัฐอเมริกาได้มีการทำสนธิสัญญาทางทหารระหว่างกันหลายฉบับ ซึ่งบางฉบับเปิดโอกาสให้สหรัฐอเมริกาสามารถเข้ามาตั้งฐานทัพในไทยได้ด้วย รวมทั้งการที่สหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือทางทหารในรูปอื่น ๆ เช่น การให้เงินช่วยเหลือทั้งในรูปของเงินกู้และเงินให้เปล่า เพื่อให้ไทยได้ใช้ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ การจัดการฝึกอบรมทางด้านวิชาการทางทหาร และการฝึกผสมร่วมคอบบราโกลด์ (Cobra Gold) เป็นต้น
                2. ด้านการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาทางด้านการเมืองนั้น เริ่มในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ จากการที่สหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งสถานกงสุลขึ้นในไทยครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2399 ทั้งสองประเทศได้มีการส่งทูตแลกเปลี่ยนกันตลอดเวลา รวมถึงการที่พระมหากษัตริย์ได้มีพระราชหัตถเลขาติดต่อกับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และผู้นำของประเทศทั้งสองได้มีการเดินทางไปเยือนแต่ละฝ่ายเสมอมา ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกาที่เดินทางมาเยือนไทย คือ นายพล ยูลิสซิส เอส. แกรนด์ (General Ulysses S. Grant) เป็นประธานาธิบดีคนที่ 18 ของสหรัฐอเมริกาที่มาเยือนเมืองไทยในปี พ.ศ. 2422 ในรัชสมัยที่ 5 ส่วนพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่เสด็จเยือนทำเนียบขาวเมื่อ พ.ศ. 2474 คือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยและสหรัฐอเมริกามีความสัมพันธ์ทางด้านการเมืองอย่างแน่นแฟ้น หลายระดับ นับตั้งแต่การมีแถลงการณ์ ประกาศในเชิงเป็นมิตรต่อกัน การเยี่ยมเยือนระหว่างผู้นำประเทศและข้าราชการในหลายระดับ การสนับสนุนซึ่งกันและกันทางการเมืองในเวทีการเมืองระหว่างประเทศทุกระดับ
ปัจจุบันความสัมพันธ์ด้านการเมืองระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาโดยรวมมีการร่วมมือกันด้วยดี มีลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัย แม้จะมีความเห็นไม่สอดคล้องกันบ้าง แต่ก็ไม่มีลักษณะของความขัดแย้ง ประเด็นที่สหรัฐอเมริกาให้ความสนใจ ได้แก่ ปัญหาการกักตัวนางอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านในพม่า ปัญหาสิทธิมนุษยชนและการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะเด็กและสตรีในไทย เป็นต้น
                3. ด้านเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาทางด้านเศรษฐกิจ แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
                                1) ด้านเศรษฐกิจ สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจแก่ไทยมากที่สุด นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489 เป็นต้นมา โดยมีจุดมุ่งหมายทางด้านการเมือง โดยเฉพาะการนำนโยบายสกัดกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ของประธานาธิบดีทรูแมนมาใช้ในปี พ.ศ. 2490 โดยมุ่งให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนา โดยเน้นการนำความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกาเข้ามาช่วยให้มีความเจริญก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ เช่น การเกษตร สาธารณสุข คมนาคม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หลังสิ้นสุดสงครามเย็นความช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกาได้ลดลง ในขณะที่ประเทศผู้ที่ให้ความช่วยเหลือไทยมากที่สุดกลายเป็นประเทศญี่ปุ่น
                                2) ด้านการค้า สหรัฐอเมริกาและไทยมีความสัมพันธ์ทางการค้าอย่างไม่เป็นทางการมาช้านานแล้ว แต่ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาทางการค้าอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2463 คือ สนธิสัญญาทางไมตรีการพาณิชย์และการเดินเรือระหว่างประเทศ ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 ต่อมาได้ยกเลิกและมีการทำสนธิสัญญาใหม่อีกหลายฉบับ นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ตรารัฐบัญญัติปฏิรูปการค้า ซึ่งให้สิทธิพิเศษทางการค้าแก่ประเทศต่าง ๆ ที่กำลังพัฒนาตามโครงการให้สิทธิ์พิเศษทางภาษีศุลากากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of preference. GSP) เพื่อช่วยเหลือแก่ประเทศที่กำลังพัฒนาในด้านการส่งออกโดยผ่อนคลาย หรือยกเลิกการกีดกันทางการค้าในรูปภาษีศุลกากร (Tariff barriers) เพื่อเปิดตลาดให้แก่สินค้าออกของประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งไทยได้รับสิทธิพิเศษนี้ในปี พ.ศ. 2519 รวมทั้งยังได้ลดหย่อนอัตราภาษีศุลกากรให้แก่ไทย ซึ่งเป็นประเทศภาคีของแกตต์ จากการประชุมรอบโตเกียว (Tokyo Round) ด้วย
ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา การค้าและการลงทุนของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทยเริ่มมีความสำคัญและขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ กลุ่มนักธุรกิจอเมริกันในประเทศไทยได้ร่วมกันก่อตั้งหอการค้าอเมริกันในประเทศไทยขึ้น ซึ่งได้ช่วยส่งเสริมธุรกิจการค้าระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาได้เจริญเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก
ต่อมาในปี พ.ศ. 2544 ไทยได้เจรจากับสหรัฐอเมริกาด้านการค้า รวมทั้งการจัดตั้งเขตการค้าเสรีไทย         
                สหรัฐอเมริกา และลงทุนในกรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุน (Trade and Investment Framework Agreement TIFA) เพื่อการร่วมมือและประสานงานด้านการค้าและการลงทุน แก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน
                สำหรับการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทยนั้น ไทยเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับที่ 23 ของสหรัฐอเมริกา ขณะที่สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับ 1 ของไทย สินค้าหลักที่สหรัฐอเมริกา ส่งออกมาไทย ได้แก่ เส้นใยใช้ในการทอ เมล็ดพืชน้ำมัน เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องมือแพทย์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์โลหะ สินแร่โลหะ และเศษโลหะ เคมีภัณฑ์ ส่วนสินค้าหลักที่สหรัฐอเมริกานำเข้าจากไทย ได้แก่ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ยางพารา เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ยาง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป กุ้งสดแช่เย็น แช่แข็ง แผงวงจรไฟฟ้า เสื้อผ้าสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ
                                3) ด้านการลงทุน สำหรับในด้านการลงทุนนั้น ชาวอเมริกันเข้ามาดำเนินการทางธุรกิจในประเทศไทยมากเป็นอันดับที่สองรองจากญี่ปุ่น อุตสาหกรรมที่ชาวอเมริกันนิยมมาลงทุนมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมประเภทผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์จากการเกษตร เหมืองแร่ เครื่องกลและไฟฟ้า และเมื่อไทยได้กลายเป็นแหล่งที่มีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ สหรัฐอเมริกาก็ได้มีบทบาทสำคัญในการเข้าร่วมลงทุนทางด้านนี้อีกด้วย โดยบริษัทน้ำมันของสหรัฐอเมริกา เช่น ยูเนี่ยนออยล์ เอ๊กซอน (หรือเอสโซ่) อาโมโก้ เท็กซัสแปซิฟิก ฟิลลิปปิโตรเลียม และอื่น ๆ ได้ลงทุนในการสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในไทย เป็นต้น
                                4) ด้านสังคมและวัฒนธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาด้านสังคมและวัฒนธรรม แบ่งออกเป็นหลายด้าน พอสรุปได้ดังนี้
                                                (1) ด้านสาธารณสุข สหรัฐอเมริกาให้ความช่วยเหลือต่อไทยในรูปของมูลนิธิร๊อกกี้เฟลเลอร์ด้วยการสนับสนุนการดำเนินงานของคณะแพทยศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ราชแพทยาลัยเดิม) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น จนสามารถผลิตแพทย์ที่มีคุณภาพออกไปช่วยพัฒนาประเทศด้านการสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการช่วยเหลือในด้านการปราบปรามโรคพยาธิปากขอ การพัฒนาระบบการประปาและศูนย์อนามัยตามเมืองต่าง ๆ อีกด้วย นอกจากนี้ยังได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านวิชาการแพทย์และสาธารณสุขอยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งปัจจุบันนี้
                                                (2) ด้านการศึกษา นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาและไทยได้ลงนามเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ไทยในการพัฒนาการศึกษาด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาอาชีวศึกษาระดับโรงเรียนมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา ฝึกหัดครู บริหารการศึกษา สังคมศาสตร์ ภาษาศาสตร์ เกษตรศาสตร์ การฝึกอบรมและวิจัยในเรื่องต่าง ๆ รวมตลอดไปจนถึงการศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในชนบท นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาอีก เช่น หน่วยสันติภาพ (The Pease Corps) มูลนิธิการศึกษามิตรภาพ (The Mitraparb Education Foundation) มูลนิธิฟลูไบรท์ หรือมูลนิธิการศึกษาไทยอเมริกัน นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนสอนภาษาสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา (The American University Alummi Lauguage Center : AUA) หรือเรียกกันทั่วไปว่า เอยูเอ. รวมทั้งโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษานานาชาติ เอ.เอฟ.เอส. (The American Field Service, AFS) จากความช่วยเหลือดังที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าสหรัฐอเมริกาได้มีส่วนอย่างมากในการให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการศึกษาแห่งประเทศไทย
                                                (3) ด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ในปี พ.ศ. 2515 รัฐบาลทั้งสองได้ลงนามในสนธิสัญญาเพื่อความร่วมมือ โดยสหรัฐอเมริกาสนับสนุนเงินแก่ไทยในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดใน 3 ด้าน ได้แก่ การปราบปราม การปลูกพืชทดแทนและการพัฒนาชาวไทยภูเขา และการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดอาเซียน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ไทยได้จับกุมผู้ค้ายาเสพติดที่สำคัญและส่งไปดำเนินคดีในสหรัฐอเมริกาหลายราย ในปี พ.ศ. 2546 ประเทศไทยโดยรัฐบาลมีนโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างรุนแรง ส่งผลให้ยาเสพติดลดจำนวนเป็นอย่างมาก
                                                (4) ด้านปัญหาผู้อพยพอินโดจีนในประเทศไทย จากปัญหาการสู้รบในอินโดจีนก่อให้เกิดการอพยพลี้ภัยของชาวลาว กัมพูชา และเวียดนามออกนอกประเทศเป็นจำนวนนับแสนคน ซึ่งสร้างปัญหาแก่ประเทศเป็นอย่างมาก ไทยต้องแก้ปัญหาดังกล่าวโดยขอความร่วมมือจากประเทศต่าง ๆ ให้รับผู้อพยพลี้ภัยไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศนั้น ๆ โดยสหรัฐอเมริการับผู้อพยพอินโดจีนจากไทยไปมากที่สุด โดยมีสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เป็นผู้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้อพยพลี้ภัยดังกล่าว
                                                (5) ด้านศิลปวัฒนธรรม ประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาได้แลกเปลี่ยนทางศิลปวัฒนธรรมกันอยู่ตลอดเวลา นับตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา ตัวอย่างที่สำคัญคือ ความร่วมมือระหว่างสหรัฐอเมริกากับกรมศิลปากรในการขุดค้นศิลปวัตถุสมัยบ้านเชียงซึ่งพบว่าดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยเป็นแหล่งอารยธรรมที่มีการใช้เครื่องโลหะและปั้นดินเผามาก่อนจีนและอินเดีย ซึ่งถือเป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ทีสุดในเอเชีย นอกจากนั้นการที่ไทยมีความสัมพันธ์อันดีต่อสหรัฐอเมริกาในทุกด้าน ทำให้ความสัมพันธ์ทางด้านสังคมและวัฒนธรรมเป็นไปอย่างกว้างขวาง ทำให้อิทธิพลของค่านิยมตะวันตกที่ลอกเลียนจากสหรัฐอเมริกาได้แทรกซึมอยู่ทั่วไปในสังคมไทย
3. ผลกระทบของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา
                นโยบายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับสหรัฐอเมริกาได้ส่งผลกระทบในด้านต่าง ๆ ดังนี้
                1. ด้านการทหาร ความสัมพันธ์ด้านการทหารของทั้งสองประเทศก่อให้เกิดผลกระทบต่อไทยทั้งในด้านการเมืองและในด้านเศรษฐกิจ กล่าวคือ การช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกาด้านการทหารทำให้กองทัพไทยมีความเข้มแข็งมากที่สุดซึ่งส่งผลต่อความเข้มแข็งทางด้านการเมืองรวมทั้งเปิดโอกาสให้สถาบันทหารมีอิทธิพลด้านการเมืองด้วย นอกจากนี้การที่สหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทยเพื่อทำสงครามในเวียดนามนั้น ทำให้ไทยเสื่อมเสียศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิ ขณะเดียวกันความช่วยเหลือทางทหารทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจเมื่อการช่วยเหลือแบบให้เปล่าถูกเปลี่ยนเป็นรูปแบบการให้สินเชื่อ ทำให้งบประมาณถูกใช้ในด้านการทหารมากกว่าด้านสาธารณสุข เกษตร และการศึกษา ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งและเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ สำหรับแนวโน้มของความสัมพันธ์ในปัจจุบันจะเห็นการพึ่งพาตนเอง รวมทั้งเน้นการฝึกอบรมมากกว่าการเป็นพันธมิตรทางทหาราเช่นที่เป็นมา
                2. ด้านการเมือง การมีความสัมพันธ์ทางการเมืองของไทยและสหรัฐอเมริกาอย่างแน่นแฟ้นในลักษณะที่ไทยมักจะมีนโยบายลู่ตามสหรัฐอเมริกาในอดีต ทำให้ดูเหมือนว่าไทยไม่มีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายของตนเองเท่าที่ควร ต้องคอยปรับนโยบายทางการเมืองตามสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไทยได้ปรับนโยบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลก ทำให้ความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาอยู่บนรากฐานของเหตุผลและผลประโยชน์ทางด้านอื่น ๆ มากกว่าอุดมการณ์เช่นที่ผ่านมา
                3. ด้านเศรษฐกิจ ผลและแนวโน้มของความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและด้านการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกานั้น แม้ว่าความช่วยเหลือดังกล่าวจะก่อให้เกิดการพัฒนาทางด้านต่าง ๆ รวมทั้งช่วยยกระดับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ประชาชาติของไทย แต่ก็ยังมีข้อจำกัดและส่งผลกระทบในทางลบต่อไทย กล่าวคือ สหรัฐอเมริกามักจะให้ความช่วยเหลือกับรัฐบาลที่มีอุดมการณ์สอดคล้องกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งมิได้มุ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเต็มที่และไม่ได้ลงไปสู่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศโดยตรง นอกจากนี้มักจะมุ่งเน้นการแก้ไขความไม่เท่าเทียมในส่วนภูมิภาค ซึ่งไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างเมืองและชนบท ระหว่างชนชั้นนำกับประชาชน สหรัฐอเมริกามักจะปฏิเสธโครงการขอความช่วยเหลือส่วนใหญ่ที่ฝ่ายไทยขอสนับสนุน ด้วยเหตุผลว่าไม่สอดคล้องกับนโยบายของตนและไม่มีงบประมาณ แต่ขณะเดียวกันจะเสนอโครงการให้ไทยดำเนินการ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ส่วนความสัมพันธ์ด้านการค้านั้น ไทยต้องเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้ามาโดยตลอด เนื่องจากต้องนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงกว่าสินค้าที่สหรัฐอเมริกานำเข้าไปจากประเทศไทย โดยเฉพาะสินค้าการเกษตร นอกจากนี้การใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรที่ให้แก่ไทยไม่ได้เป็นประโยชน์แก่สินค้าที่ส่งออกของไทย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะครอบคลุมถึงชนิดของสินค้าตามความพอใจของสหรัฐอเมริกาเอง และเนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลิตสินค้าการเกษตรรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยเฉพาะข้าวและข้าวโพด ทำให้ไม่มีความต้องการที่จะสั่งเข้าจากไทยโดยตรง และนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2533 สหรัฐอเมริกามีนโยบายกีดกันทางการค้า เช่น การจำกัดโควต้า การตั้งกำแพงภาษีชลอการชำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อลดการขาดดุลการค้าและดุลการเงินกับประเทศที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้เสียเปรียบรายใหญ่ ทำให้ส่งผลกระทบต่อไทย และทำให้ไทยต้องทบทวนนโยบายด้านการค้าใหม่ ด้วยการแสวงหาตลาดการค้ากับประเทศนอกภูมิภาคห่างไกลออกไป เช่น ละตินอเมริกา แอฟริกาและกลุ่มประเทศที่มีอุดมการณ์แตกต่างไปจากไทย เพื่อทดแทนตลาดสินค้าในสหรัฐอเมริกาที่ไทยสูญเสียไป
                4. ด้านสังคมและวัฒนธรรม ความสัมพันธ์ของไทยกับสหรัฐอเมริกาในด้านสังคมและวัฒนธรรม ได้สร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกันและกัน ซึ่งส่งผลให้ความสัมพันธ์ด้านอื่น ๆ เป็นไปด้วยดี อย่างไรก็ตาม การที่คนไทยจำนวนมากไปศึกษาอบรมในด้านต่าง ๆ จากสหรัฐอเมริกาทำให้เกิดการเรียนแบบรูปแบบและวิธีการในเรื่องต่าง ๆ โดยไม่คำนึงถึงว่าเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพของสังคมไทยหรือไม่ ทำให้เกิดสภาพที่เรียกว่าการทำให้ทันสมัยโดยไม่ได้มีการพัฒนา รวมทั้งเกิดช่องว่างระหว่างผู้ที่ได้รับการศึกษาจากสหรัฐอเมริกากับคนส่วนใหญ่ในสังคมไทย การหลั่งไหลของวัฒนธรรมอเมริกันมีอิทธิพลในสังคมและวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างมาก ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมและทำลายค่านิยมอันดีของไทย เช่น ปัญหาโสเภณี ปัญหาวัยรุ่น ปัญหายาเสพติด แหล่งอบายมุขต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้คือผลพวงบางประการและความสัมพันธ์ด้านสังคมและวัฒนธรรมของไทยและสหรัฐอเมริกาควรที่จะได้มีการให้ความสนใจ และรวมทั้งการหาวิธีการแก้ไขและป้องกันผลกระทบอันไม่พึงปรารถนาเหล่านี้ เพื่อที่จะทำให้ความสัมพันธ์ด้านสังคมและวัฒนธรรมของประเทศทั้งสองเอื้ออำนวยประโยชน์สูงสุดต่อไทย
ประเทศไทยกับยุโรปตะวันตก
นโยบายต่างประเทศของไทยกับยุโรปตะวันตก
การกำหนดนโยบายและความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศยุโรปตะวันตกมีปัจจัยสำคัญ ดังนี้
                1. ปัจจัยภายใน ปัจจัยภายในที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศของไทยต่อประเทศยุโรปตะวันตก ประกอบด้วย
                                1) ด้านการปกครอง หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ระบอบการปกครองของไทยจะเป็นประชาธิปไตยสลับกับเผด็จการทหาร โดยรัฐบาลทหารภายใต้การปฏิวัติรัฐประหาร จะเน้นนโยบายความมั่นคงและมีความผูกพันกับสหรัฐอเมริกามากกว่ายุโรปตะวันตก
                                2) ด้านการเมือง ในอดีตคนไทยให้ความสนใจกับการเมืองน้อยมาก ส่วนใหญ่ไม่มีความกระตือรือร้นในด้านการเมือง ทั้งนี้เนื่องจากตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการทหารเป็นเวลานาน แต่หลังจากเหตุการณ์ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 ประชาชนมีความตื่นตัวในทางการเมืองมากขึ้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเผด็จการยังเน้นในนโยบายความมั่นคงผูกพันกับสหรัฐอเมริกา ทำให้ความสัมพันธ์กับยุโรปตะวันตกลดน้อยลง
                                3) ด้านอุดมการณ์ กลุ่มทหารเป็นกลุ่มที่มีบทบาททางการเมืองมากที่สุด ดังนั้นนโยบายต่างประเทศของไทยจึงถูกกำหนดโดยกลุ่มทหารมากกว่าพลเรือน ทำให้ปัจจัยด้านอุดมการณ์และแนวคิดของผู้นำทหารเป็นตัวกำหนดการดำเนินนโยบายต่างประเทศมาตลอด โดยเน้นการต่อต้านคอมมิวนิสต์และความมั่นคงทางการเมืองมากกว่าด้านเศรษฐกิจและการกระจายรายได้
                                4) ด้านประวัติศาสตร์ ประเทศไทยมีการคบค้ากับกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกมาเป็นเวลานานแล้วเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา และไทยได้ใช้วิธีการถ่วงดุลอำนาจหรือลู่ตามลม จึงทำให้สามารถหลุดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกได้ ความสำคัญทางประวัติศาสตร์นี้มีผลต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยในด้านเศรษฐกิจและการค้ามาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ประสบการณ์จากการติดต่อกับประเทศเหล่านี้ทำให้ไทยเลือกเน้นความสัมพันธ์กับบางประเทศ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี เป็นต้น
                                5) ด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยจำเป็นต้องพึ่งพาต่างประเทศทั้งในด้านเงินทุนและเทคโนโลยี ตลอดจนการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรปตะวันตก และญี่ปุ่น เพื่อเป็นแหล่งระบายออกสินค้าเกษตรและกึ่งอุตสาหกรรมบางประเภท ขณะเดียวกันก็ต้องพึงพาสินค้าทุนจากประเทศเหล่านี้ในอัตราที่สูงขึ้น นโยบายเศรษฐกิจจึงมีความสำคัญต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศกับกลุ่มประเทศยุโรป
                2. ปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายนอกที่มีอิทธิพลในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ มีดังนี้
                                1) การเมืองระหว่างประเทศ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มหาอำนาจของโลกถูกแบ่งเป็น 2 ค่าย โดยสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำค่ายเสรีนิยมทุนนิยม ส่วนสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ สำหรับประเทศไทยจำเป็นต้องร่วมมือกับฝ่ายเสรีนิยมเพื่อต่อต้านฝ่ายคอมมิวนิสต์ตามประเทศของสิทธิทรูแมน โดยมีการก่อตั้งองค์การซีโต้ (SEATO) ซึ่งเป็นองค์การความร่วมมือทางทหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกด้วย
                                2) การเสื่อมอำนาจของกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก ผลจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้ประเทศมหาอำนาจในยุโรปตะวันตก เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส และฮอลแลนด์ ประสบกับปัญหาด้านเศรษฐกิจและการเมือง ส่งผลให้อิทธิพลและบทบาทในทางการเมืองระดับโลกถดถอยลง ทำให้ประเทศไทยมีทางเลือกน้อยจนต้องพึ่งพาสหรัฐอเมริกาทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ส่วนกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกนั้นมีเพียงความสัมพันธ์ในด้านการค้า เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมเป็นหลัก
                                3) สถานการณ์อินโดจีน จากการลงนามในสนธิสัญญาก่อตั้งองค์การซีโต้ (SEATO) เพื่อต่อต้านการขยายอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ โดยมีอังกฤษและฝรั่งเศสร่วมเป็นสมาชิกด้วย ขณะเดียวกันทำให้ไทยมีส่วนเข้าไปมีความสัมพันธ์ทางการเมืองกับกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก
                                4) องค์การอาเซียน สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซีย (ASEAN) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2510 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน การพัฒนาประเทศและเพิ่มอำนาจต่อรองกับประเทศมหาอำนาจและประเทศอื่น ๆ ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม พม่า ลาว และกัมพูชา จากการรวมตัวของประเทศสมาชิกดังกล่าว ทำให้ความสัมพันธ์ในทางเศรษฐกิจที่กลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศสมาชิกประชาคมยุโรปที่มีต่อกลุ่มประเทศอาเซียน มีลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มต่อกลุ่มคู่ขนานไปกับความสัมพันธ์ในลักษณะทวิภาคี
                3. ลักษณะนโยบายต่างประเทศของไทย จากการที่ไทยเน้นนโยบายป้องกันประเทศ โดยยึดอุดมการณ์เสรีนิยมและทุนนิยมเป็นหลัก และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา และให้ความสำคัญกับความร่วมมือในระดับอาเซียนจึงทำให้ลักษณะของการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยดังกล่าวส่งผลต่อนโยบายต่อประเทศไทยต่อกลุ่มยุโรปตะวันตก ดังนี้
                                1) การเน้นความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากความเสื่อมโทรมของบทบาททางการเมืองของกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก ไทยจึงให้ความสำคัญด้านดังกล่าวกับสหรัฐอเมริกาในอันที่จะเป็นที่พึ่งของไทย เพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามจากภายนอกได้ อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกได้มีบทบาทด้านเศรษฐกิจและการค้าเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสหภาพยุโรป ทำให้นโยบายด้านเศรษฐกิจต่อกันทั้งในระดับทวิภาคีและพาหุภาคี ซึ่งมีประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมด้วย
                                2) การหาเสียงสนับสนุนทางการเมือง ในช่วงที่เกิดความรุนแรงในกลุ่มประเทศอินโดจีน ส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยสงครามอพยพเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก รัฐบาลไทยจำเป็นต้องแสวงหาเสียงสนับสนุนเพื่อใช้เป็นแรงต่อรองหรือผลักดันให้เกิดมติมหาชนโลก เพื่อรับรองท่าทีหรือแนวนโยบายต่างประเทศ ประเทศไทยจึงให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกในเชิงการเมือง โดยเฉพาะปัญหาสถานการณ์กัมพูชาและปัญหาผู้ลี้ภัย

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับยุโรปตะวันตก
ประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับประเทศยุโรปตะวันตกในด้านต่าง ๆ ดังนี้
                1. ด้านการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับยุโรปตะวันตกด้านการเมืองนั้น เป็นความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มสหภาพยุโรป ซึ่งในอดีตความสัมพันธ์ส่วนใหญ่จะมีกับอังกฤษและฝรั่งเศสในฐานะที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาอินโดจีน ซึ่งประเทศทั้งสองเคยมีบทบาทสำคัญในดินแดนแห่งนี้ แต่หลังจากกลุ่มประเทศอินโดจีนเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ ความสัมพันธ์ด้านการเมืองระหว่างไทยกับยุโรปตะวันตก โดยเฉพาะอังกฤษและฝรั่งเศสได้ค่อย ๆ ลดบทบาทลง อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกลุ่มยุโรปตะวันตกมีลักษณะเป็นไปด้วยดีมาโดยตลอด กล่าวคือ ปราศจากความขัดแย้งสำคัญ และให้การสนับสนุนนโยบายของไทยโดยเฉพาะเกี่ยวกับปัญหากัมพูชา
                2. ด้านเศรษฐกิจ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ประเทศไทยได้เร่งฟื้นฟูประเทศด้วยการดำเนินนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า และนับตั้งแต่ พ.ศ. 2504 ทำให้ความจำเป็นในการสั่งสินค้าเข้าจากต่างประเทศในรูปของสินค้าขั้นกลาง วัตถุดิบ และสินค้าประเภททุนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนถึงช่วงที่ประเทศไทยเริ่มหันมาเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า การสั่งสินค้าประเภทดังกล่าวจึงลดลงนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 เมื่อไทยหันมาเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมส่งออก จากเหตุผลดังกล่าวทำให้ไทยต้องพึ่งพาสินค้าจากประเทศที่พัฒนาเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างไทยกับยุโรปตะวันตกมีลักษณะขาดดุลโดยตลอด สินค้าที่ไทยนำเข้าประกอบด้วย เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ ยานยนต์ และอาหารประเภทนมครีม ส่วนสินค้าส่งออก ได้แก่ มันสำปะหรัง ยางพาราใบยาสูบ ดีบุก ข้าว และไม้สัก เป็นต้น แต่หลังจากปี พ.ศ. 2520 อัตราส่วนการค้าของไทยกับยุโรปตะวันตกได้ลดลง เนื่องจากไทยหันไปสั่งสินค้ากับประเทศอื่น ๆ นอกภูมิภาคยุโรปตะวันตก โดยเฉพาะญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันหรือโอเปค (OPEC)
                สำหรับการลงทุนของประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มยุโรปตะวันตกในไทยนั้น มีปริมาณมากเป็นอันดับสองรองจากญี่ปุ่น โดยมีอังกฤษเข้ามาลงทุนมากที่สุด ตามด้วยเนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับยุโรปตะวันตกนั้น ยังมีลักษณะว่าประเทศเหล่านี้เป็นแหล่งสินค้าประเภททุนและสินค้าขั้นกลางของไทย และเป็นตลาดส่งออกของไทยในด้านสินค้าโภคภัณฑ์และสินค้ากึ่งอุตสาหกรรม สำหรับแนวโน้มด้านการค้าระหว่างไทยกับยุโรปตะวันตกคงจะไม่ขยายตัวมากนัก แต่ด้านการลงทุนในไทยโดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
                3. ด้านสังคมและวัฒนธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกลุ่มยุโรปตะวันตกในด้านสังคมและวัฒนธรรมนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการและเทคนิค รวมทั้งการให้ทุนการศึกษาฝึกอบรมและดูงาน ประเทศที่ให้ความช่วยเหลือมากที่สุด ได้แก่ เยอรมนี รองลงมาคือ อังกฤษและฝรั่งเศส นอกจากนี้ยังมีอิตาลี เบลเยี่ยม เดนมาร์ก นอร์เว สวีเดน และฟินแลนด์
                อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกลุ่มยุโรปตะวันตกในอดีตเป็นลักษณะการให้ทุนการศึกษาและดูงาน ความช่วยเหลือในรูปโครงการส่วนใหญ่จะมุ่งไปในด้านการเกษตร ลักษณะความช่วยเหลือและปริมาณความช่วยเหลือดังกล่าวคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอาเซียน
                ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 5 ของสมาชิกผู้ก่อตั้งและเป็นจุดกำเนิดของอาเซียน หรือสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) ซึ่งลงนามโดยรัฐมนตรีของ 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดจีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 ต่อมาประเทศบรูไนดารุสซาลาม เวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา ได้เข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียนตามลำดับ รวมสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ
                ไทยมีบทบาทอย่างแข็งขันในกิจกรรมของอาเซียนตลอดมา รวมทั้งยังมีส่วนผลักดันให้อาเซียนมีโครงการความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ที่ทันการณ์และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ระหว่างประเทศ อาทิ การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะเดียวกันอาเซียนก็มีความสำคัญต่อประเทศไทย โดยนอกจากจะสร้างพันธมิตรและความเป็นปึกแผ่น ตลอดจนเสถียรภาพและสันติภาพในภูมิภาคแล้ว ยังช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองในการเจรจาระหว่างประเทศ และร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาข้ามชาติ และการพัฒนาขั้นพื้นฐานต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนั้นความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมภายในอาเซียน ได้เปิดโอกาสให้มีการขยายตัวด้านการค้าและการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งนำผลดีมาสู่เศรษฐกิจของประเทศไทยและของประเทศสมาชิกอาเซียนโดยส่วนรวม
ปัจจัยกำหนดความสัมพันธ์ของไทยกับอาเซียน
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอาเซียนมีปัจจัยที่กำหนดความสัมพันธ์ ดังนี้
                1. ปัจจัยภายใน ปัจจัยภายในที่กำหนดนโยบายของไทยต่ออาเซียน ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ ปัจจัยภายในที่กำหนดนโยบายต่อสมาคมอาเซียน และปัจจัยภายในที่กำหนดนโยบายแต่ละประเทศในอาเซียน สำหรับสมาคมอาเซียนนั้น รัฐได้นำปัจจัยภายในต่าง ๆ มาประกอบการพิจารณา ซึ่งได้แก่ การเสริมสร้างเสถียรภาพของรัฐบาล การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การเมืองในประเทศ รวมทั้งการพัฒนาประเทศ เป็นต้น ส่วนปัจจัยภายในที่กำหนดนโยบายต่อแต่ละประเทศในอาเซียนนั้น บางอย่างคล้ายคลึงกัน บางอย่างแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิศาสตร์และผลประโยชน์ร่วมกัน
                2. ปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายนอกที่กำหนดนโยบายของไทยต่ออาเซียน ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ประการเช่นเดียวกับปัจจัยภายใน ได้แก่ ปัจจัยภายนอกที่กำหนดต่อสมาคมอาเซียน และปัจจัยภายนอกที่กำหนดนโยบายต่อแต่ละประเทศในอาเซียน สำหรับสมาคมอาเซียนนั้น ได้แก่ การลดบทบาทของสหรัฐอเมริกา การแผ่ขยายสิทธิคอมมิวนิสต์ ชัยชนะของคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน และการแข่งขันอิทธิพลของมหาอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนปัจจัยภายนอกที่กำหนดนโยบายของไทยต่อแต่ละประเทศในอาเซียนโดยทั่วไปแล้วเป็นสิ่งเดียวกัน เช่น การแข่งขันอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจ ซึ่งทำให้ไทยจำเป็นจะต้องร่วมมือกับอาเซียนอย่างใกล้ชิด เป็นต้น

ลักษณะความสัมพันธ์ของไทยกับอาเซียน
ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศอาเซียน มีดังนี้
                1. นโยบายต่างประเทศของไทย หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 นโยบายต่างประเทศของไทยต่ออาเซียนที่รัฐบาลไทยยึดถือปฏิบัติอยู่เป็นไปตามนโยบายที่สืบเนื่อง มาจากนโยบายสมัยรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะเสริมสร้างความร่วมมือทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกนของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจะกระชับสัมพันธไมตรีกับบรรดาประเทศภาคีอาเซียนให้แน่นแฟ้นและใกล้ชิดยิ่งขึ้น ทั้งจะสนับสนุนมาตรการที่จะให้ภิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเขตสันติภาพ เสรีภาพและความเป็นกลาง ซึ่งต่อมาในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เน้นหลักการที่จะเป็นมิตรกับทุกประเทศที่มีเจตนาดีต่อประเทศไทย โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างในอุดมการณ์ทางการเมือง และระบบการปกครอง แต่จะยึดหลักความยุติธรรมและความเสมอภาคเป็นสำคัญ ไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน จากนโยบายดังกล่าวเป็นผลนำไปสู่การเปิดความสัมพันธ์ทางการฑูตระหว่างไทยกับจีน ในปี พ.ศ. 2518 และนับจากนั้นเป็นต้นมาทุกรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศ ก็ได้ยึดถือหลักการสำคัญของนโยบายต่างประเทศในอันที่จะสร้างความสัมพันธ์อันดีกับทุกประเทศทั่วโลก โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างในลัทธิการเมือง และระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะได้เน้นการสร้างความสัมพันธ์ในลักษณะพิเศษกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดต่อกันและกลุ่มประเทศอาเซียน
                2. ลักษณะความสัมพันธ์ของไทยกับแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียน ลักษณะความสัมพันธ์ ของไทยกับแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียน มีดังนี้
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซีย
                ไทยกับมาเลเซียเป็นเพื่อนบ้านที่มีอาณาเขตติดต่อกัน และมีผลประโยชน์ร่วมกันหลายด้าน จึงทำให้ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด สามารถแยกความสัมพันธ์ในด้านต่าง ๆ ได้ดังนี้
                1) ด้านการเมือง ความร่วมมือทางการเมืองที่สำคัญ คือ การที่มาเลเซียมีความเข้าใจในนโยบายของไทยที่มีต่อชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการให้ความช่วยเหลือสนับสนุนไทยโดยพยายามป้องกันไม่ให้มีขบวนการโจรก่อการร้ายที่ปฏิบัติการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นำเอาปัญหาชาวไทยมุสลิมเข้าสู่ที่ประชุมกลุ่มประเทศมุสลิม ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ อันจะทำให้ปัญหาดังกล่าวรุนแรงเพิ่มขึ้น
                2) ด้านเศรษฐกิจ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ การค้าขายระหว่างกัน ในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้นมาเลเซียเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทยรองจากสิงคโปร์ อดีตไทยเคยได้เปรียบดุลการค้ามาเลเซียโดยตลอด ปัจจุบันมาเลเซียกลับเป็นฝ่ายได้เปรียบ นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายได้ทำความตกลงจัดตั้งองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย เพื่อแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งได้แก่ ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในบริเวณเขตพัฒนาร่วม บริเวณไหล่ทวีปในอ่าวไทย ซึ่งเป็นบริเวณที่เหลื่อมล้ำกัน มีพื้นที่ประมาณ 6,900 ตารางกิโลเมตร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา ความร่วมมือนี้มีความก้าวหน้าตามลำดับ
                3) ด้านการทหาร เนื่องจากทั้งสองประเทศมีพรมแดนติดต่อกัน จึงมีความร่วมมือกันเป็นพิเศษในด้านการทหาร เช่น การร่วมมือในอุตสาหกรรมผลิตอาวุธ การซ้อมรบร่วม การฝึกนักบินและเจ้าหน้าที่ประจำเครื่องบิน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างเรือรบและคณะทหารระหว่างกัน เป็นต้น
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับลาว
                ไทยและลาวถือเป็นประเทศบ้านพี่เมืองน้อง มีสิ่งต่าง ๆ ที่คล้ายคลึงและเหมือนกันมากนับตั้งแต่สังคม วัฒนธรรม โดยเฉพาะภาษาจึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและลาวมีความแน่นแฟ้น แม้ลาวจะเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ก็ตาม สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและลาวอาจแยกออกเป็นด้านต่าง ๆ ได้ดังนี้
                1) ด้านการเมือง รัฐบาลในสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการปรับนโยบายต่อประเทศเพื่อนบ้านใหม่ เรียกว่า แปรสนามรบให้เป็นตลาดการค้า ซึ่งเป็นช่วงที่ลาวพร้อมที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวหน้าขึ้นไปภายใต้กลไก่ของเศรษฐกิจใหม่ ภายใต้นโยบายนี้ลาวเป็นประเทศแรกที่ผู้นำของไทยหวังจะให้เกิดการปฏิบัติเป็นรูปธรรม ซึ่งต่อมาไทยและลาวได้ออกแถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงร่วมกันที่จะร่วมมือทางด้านการค้าและธุรกิจระหว่างกันให้มากขึ้น ซึ่งฝ่ายไทยได้มีการผ่อนปรนยกเลิกข้อจำกัดบางประการในการทำการค้ากับลาว มีการเปิดจุดผ่านแดนถาวร มีการยกเลิกสินค้าควบคุมบางประเภทและสินค้ายุทธปัจจัย เป็นต้น การที่ไทยใช้เศรษฐกิจนำการเมืองระหว่างประเทศเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับลาว นับว่าดำเนินไปด้วยดี มีความราบรื่น ถึงแม้ว่าจะมีความแตกต่างในด้านระบอบการเมืองการปกครองและระบบเศรษฐกิจการค้าก็ตาม และปัจจัยที่ช่วยเสริมกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นคือ การเสร็จเยือนลาวอย่างเป็นทางการของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในพิธีเปิดสะพานไทย ลาว ซึ่งผู้นำลาวก็ได้มาเยือนไทยเป็นการตอบแทน
                2) ด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนในลาวมีข้อจำกัดบางประการ เนื่องจากลาวพึ่งเข้าสู่ระบบการค้าเสรี ระเบียบกฎเกณฑ์บางอย่างไม่เคยมีมาก่อนจึงเป็นปัญหาสำคัญสำหรับการดำเนินการด้านเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามนโยบายแปรสนามรบเป็นตลาดการค้า ได้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งเมื่อการค้าระหว่างไทย ลาว เริ่มคึกคักขึ้นมูลค่าการค้าได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลให้เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยดีขึ้นด้วย นอกจากนี้ไทยและลาวได้มีความตกลงร่วมมือกันในด้านต่าง ๆ เช่น สนธิสัญญามิตรภาพ และความร่วมมือไทยลาว ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ความร่วมมือในด้านการพัฒนาไฟฟ้าในลาว ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างไทยและลาว การยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับหนังสือเดินทางทูต ความร่วมมือด้านการกีฬาและความตกลงว่าด้วยสะพานมิตรภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ได้มีการขยายความสัมพันธ์กับต่างประเทศในรูปของสี่เหลี่ยมเรขาคณิตแบบต่าง ๆ ซึ่งช่วยเสริมความสัมพันธ์ไทยและลาวมากขึ้น เช่น ความร่วมมือในด้านสี่เหลี่ยม หกเหลี่ยมเศรษฐกิจ โดยการสร้างถนนเชื่อมโยง 4 ประเทศ ระหว่างไทย พม่า ลาว และจีน ความร่วมมือในการโยงการคมนาคมทางบก ทางอากาศ ในภาคลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ รวมทั้งความร่วมมือด้านการเดินเรือตามลุ่มน้ำโขงตอนบน 4 ประเทศ เป็นต้น จากความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจการค้าของไทย ทำให้ลาวหันมาสนใจค้าขายกับไทย จนทำให้ไทยเป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของลาวในปัจจุบัน