ศิลปะการพูดเพื่อการสื่อสาร
บรรยายโดย
ผศ.ประเสริฐ บุญเสริม
การพูดคืออะไร
การพูด
คือ การใช้ถ้อยคำ น้ำเสียง และกิริยาอาการ
เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด
ความรู้ ประสบการณ์ ตลอดจนความต้องการของผู้พูดให้ผู้ฟังได้รับรู้ และเกิดการตอบสนอง
การพูดที่ดี คือ การใช้ถ้อยคำน้ำเสียง รวมทั้งกิริยาอาการอย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง ตามจรรยามารยาทและประเพณีนิยมของสังคม เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด ความรู้
ประสบการณ์ และความต้องการที่เป็นคุณประโยชน์แก่ผู้ฟัง เพื่อให้เกิดการรับรู้และเกิดผลการตอบสนองอย่างสัมฤทธิ์ผลตามความมุ่งหมายของผู้พูด
ประเภทของการพูด
เราอาจแบ่งการพูดของมนุษย์ออกเป็น ๔
ประเภท คือ
๑.
การพูดระหว่างบุคคล
๒.
การพูดในกลุ่ม
๓.
การพูดในที่ชุมนุมชน
๔.
การพูดทางสื่อมวลชน
ความสำคัญของการพูด
การพูดเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้กิจการต่าง
ๆ สำเร็จไปได้ด้วยดี ผู้มีความสามารถในการพูดจึงเป็นผู้มีอำนาจอยู่ในตัว ก่อให้เกิดผลดีในการดำเนินชีวิต ทั้งในด้านกิจการงานและด้านส่วนตัว
ความมุ่งหมายของการพูด
ความมุ่งหมายของการพูด
คือ
การแสดงหรือเสนอข้อคิดเห็นต่อผู้ฟัง
และผู้ฟังสามารถรับรู้เรื่องราวและเข้าใจได้ตรงกับความต้องการของผู้พูด
ตลอดจนสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เรียกว่า
พูดได้อย่างใจนึก
ระลึกได้ดังใจหวัง
ยังประโยชน์ให้แก่ผู้ฟัง
สร้างพลังในการเปลี่ยนแปลง
ประเสริฐ
บุญเสริม
ความมุ่งหมายของการพูด แบ่งเป็น
๒ ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ ๑) ความมุ่งหมายของการพูดโดยทั่วไป และ ๒)
ความมุ่งหมายเฉพาะ
๑. ความมุ่งหมายโดยทั่วไป คือ การพูดที่พยายามให้ผู้ฟังสนใจ เข้าใจ
และประทับใจจากการพูดนั้น ๆ
ก. ความสนใจ
จะเกิดได้เพราะผู้พูดได้เตรียมตัวเป็นอย่างดี กล่าวคือ สนใจที่จะรับฟังเพราะเตรียมพูดมาดี
และสนใจที่จะรับฟังจนจบเรื่องเพราะเตรียมเนื้อหามาดี
ข. ความเข้าใจ การเรียกร้องให้คนสนใจฟังเท่านั้นยังไม่เป็นการเพียงพอ จะต้องให้ผู้ฟังเข้าใจด้วย ซึ่งกระทำได้โดยการเตรียมเนื้อเรื่อง การใช้ถ้อยคำ
การเรียบเรียงประโยคที่ง่ายต่อการเข้าใจ
เป็นต้น
ค. ความประทับใจ คือ ความเข้าใจที่ชัดเจน จนมองเห็นภาพ
ซึ่งทำได้โดยการใช้คำคม
ข้อความที่ลึกซึ้งกินใจ
คำรุนแรงที่เหมาะสม
ตลอดจนอุปมาอุปไมยต่าง ๆ เป็นต้น
ดังนั้น ในการพูดทุกครั้ง ผู้พูดจะต้องเตรียมตัวให้พร้อม ทั้งคำนำ เนื้อเรื่อง และสรุปจบให้สอดคล้องกัน เพื่อช่วยให้ประสบผลสำเร็จในการพูดทุก ๆ ครั้ง
๒. ความมุ่งหมายเฉพาะ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ดังนี้
ก. เพื่อให้ข่าวสารความรู้
เป็นการพูดแบบเสนอข้อเท็จจริง
โดยไม่มุ่งหมายที่จะเปลี่ยนทัศนคติของผู้ฟัง แต่เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้ฟัง
ข. เพื่อความบันเทิง
เป็นการพูดเพื่อให้ผู้ฟังสนุกสนานครึกครื้น มักเป็นการพูดหลังอาหาร ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเป็นการพักผ่อน
ค. เพื่อชักจูงใจ คือ
การพูดที่มุ่งหวังให้ผู้ฟังเปลี่ยนใจเห็นคล้อยตามผู้พูด โดยใช้ การเร้าอารมณ์เป็นที่ตั้ง
องค์ประกอบของการพูด
องค์ประกอบของการพูดที่สมบูรณ์ ประกอบด้วย
๑.
ผู้พูด
๒.
เนื้อเรื่องที่จะพูด
๓.
ผู้ฟัง
๔.
เครื่องมือสื่อความหมาย
๕.
ความมุ่งหมายและผลในการพูดแต่ละครั้ง
ลักษณะการพูดที่ดี
ลักษณะการพูดที่ดีมักประกอบด้วย
๑.
มีความมุ่งหมายดี ทั้งความมุ่งหมายทั่วไปและความมุ่งหมายเฉพาะ
๒.
มีความเหมาะสม กับกาลสมัย เวลาที่กำหนดให้ สถานที่
โอกาส และบุคคล
๓.
ใช้ถ้อยคำดี คือ
พูดด้วยถ้อยคำที่เป็นจริง
มีประโยชน์
และเป็นที่พอใจแก่ผู้ฟัง
๔.
มีบุคลิกลักษณะดี คือต้องใช้น้ำเสียง ภาษา
สายตา ท่าทาง และกิริยาอาการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามธรรมชาติ สอดคล้องกับเนื้อหาของเรื่องที่พูด
สาระหรือเนื้อเรื่องที่จะพูด
การเตรียมเนื้อหาจะต้องมีโครงเรื่อง ได้แก่
คำนำ เนื้อเรื่อง และสรุปจบ
เพื่อให้การพูดดำเนินไปโดยสม่ำเสมอตลอดเรื่อง
คำนำ เป็นตอนสำคัญที่จะเรียกร้องให้ผู้ฟังสนใจและตั้งใจฟัง คำนำจึงต้องใช้ภาษาและสำนวนที่กระทัดรัดได้ใจความดี โดยอาจขึ้นต้นได้หลายแบบ ได้แก่
๑.
กล่าวถึงความสำคัญของเรื่อง
๒.
นำด้วยตัวอย่างหรือนิทาน
๓.
นำด้วยข้อความที่เร้าใจ
๔.
นำด้วยคำถามที่เร้าใจ
๕.
นำด้วยการยกย่องผู้ฟัง
๖.
นำด้วยคำพังเพย สุภาษิต
คำขวัญ คำประพันธ์ หรือคำคม
เนื้อเรื่อง จะต้องเตรียมให้
๑.
สอดคล้องกับคำนำ
๒.
เป็นไปตามลำดับขั้นตอนตามโครงเรื่อง
๓.
เวลาพูดต้องแสดงสีหน้า ท่าทางให้เหมาะสมสอดคล้องกับเรื่อง เพื่อให้เกิดความสนใจ แต่ไม่มากจนกลายเป็นเล่นละคร
สรุปจบ อาจทำได้หลายวิธี คือ
๑.
ย้ำจุดสำคัญ
๒.
จำแนกหัวข้อสำคัญ
๓.
ทบทวนความรู้ทั่วไป
๔.
สรุปด้วยการสรรเสริญสดุดี
หลักทั่วไปในการพูด
๑.
เตรียมตัวให้พร้อม
๒.
ซักซ้อมให้ดี
๓.
ท่าทีให้สง่า
๔.
วาจาสุขุม
๕.
ทักที่ประชุมให้โน้มน้าว
๖.
เรื่องราวให้กระชับ
๗.
ตาจ้องจับผู้ฟัง
๘.
เสียงดังแต่พอดี
๙.
อย่าให้มีเอ้ออ้า
๑๐.
ดูเวลาให้พอครบ
๑๑.
สรุปจบให้จับใจ
๑๒.
ยิ้มแย้มแจ่มใสเมื่ออำลา
การสร้างความมั่นใจและแก้ไขความประหม่า
เมื่อผู้พูดขาดความมั่นใจ
ก็มักจะมีอาการประหม่า
หรือตื่นเวทีปรากฏออกมาให้เห็น เราไม่สามารถทำให้ความรู้สึกประหม่าหายไปได้โดยเด็ดขาด
แต่เราอาจจะควบคุมไว้ ทำให้
ลดน้อยลงได้ด้วยการสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง โดยพิจารณาถึงเหตุผล การหาประสบการณ์ การสร้างความอดทน
การเตรียมเรื่องมาอย่างดี และการหาอุปกรณ์ประกอบการพูด
เป็นต้น
สาเหตุของความประหม่า
๑. มองเห็นจุดอ่อนของตนเองมากเกินควร ย่อมทำให้เกิดความวิตกกังวลมาก ไม่กล้าแสดงตนต่อหน้าคนอื่น เมื่อเกิดความไม่กล้า ความประหม่าก็เกิดตามมาทันที
๒. เกิดความขัดแย้งภายในตนเอง มีผลทำให้เกิดความว้าวุ่นใจ หรือวิตกกังวล จนกลายเป็นความประหม่า เวลาที่จะไปพูดในโอกาสสำคัญ ๆ ก็ปรารถนาจะประสบความสำเร็จ ในการพูด ต้องการพูดให้ดี ให้คนฟังสนใจและพอใจ แต่ขณะเดียวกันก็เกิดความกลัวว่าการพูดนั้นจะล้มเหลว คนฟังจะเบื่อ ไม่ได้รับประโยชน์ หรือหัวเราะเยาะในใจเอาได้ เหล่านี้ทำให้เกิดความขัดแย้งภายในตนเองขึ้น
๓. วาดภาพในใจไว้อย่างผิด ๆ ผู้พูดบางคนวาดภาพไว้ว่า ผู้ฟังที่ตนจะไปพูดนั้นคงจะฟังอย่างเพ่งเล็ง คอยจับผิดทุกคำพูด หากตนพูดอะไรผิดพลาดเพียงเล็กน้อยจะถูกนำไปวิพากวิจารณ์อย่างมาก ทำให้เกิดความหวาดกลัวจนกลายเป็นความประหม่าตื่นเต้นได้
วิธีการแก้ไขความประหม่าตื่นเต้นไม่ให้เป็นอุปสรรคแก่การพูด
ข้อปฏิบัติเพื่อเอาชนะความประหม่าเวทีให้ได้ผล และสร้างความมั่นใจในตนเอง มีวิธี
ปฏิบัติดังนี้
๑. เตรียมซ้อมเรื่องที่จะพูดมาให้แม่นยำที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ไม่ใช่ท่องจำทุกคำพูด ทว่าเป็นการแม่นยำในเนื้อหาสาระ และมีความคล่องตัวพอที่จะพูดให้ได้เนื้อหาสาระดังกล่าว
๒. ให้ความสนใจในเรื่องราวที่เราจะพูดให้มากพอ เพ่งความสนใจให้ออกไปจากตัวเรา อย่าเพ่งความสนใจมาที่ตัวเราเองให้มากนัก
๓. หาข้อมูลเกี่ยวกับคนฟังให้มากพอ เพื่อจะได้ดัดแปลงเรื่องที่เราพูดให้เหมาะสม กับคนฟังให้มากที่สุด
๔. ขณะที่พูด
พยายามพูดกับคนฟังให้ทั่วถึง
ยิ่งจับตาคนฟังให้ทั่วถึงมากเพียงไร
ความกลัวก็จะหายไป
๕. พยายามทรงตัวให้ดีขณะที่พูด การทรงตัวที่สมดุลย์ จะทำให้ผู้พูดรู้สึกมั่นใจขึ้น
๖. ตั้งใจให้มั่นคงเสมอว่า เราจะพยายามพูดให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งที่สุด เท่าที่จะทำได้
เมื่อความตื่นเต้นหายไป ร่างกายของเราก็จะรู้สึกปลอดโปร่ง เกิดความมั่นใจที่จะช่วยเสริมสมรรถภาพในการพูดได้อย่างดียิ่ง
การออกเสียงและพัฒนาพลังเสียง
เสียงเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของการพูด
เสียงของนักพูดที่ดีไม่ได้หมายความว่าจะต้องหวานและมีกังวานเหมือนเสียงของนักร้อง หากเป็นเสียงที่ออกมาจากความรู้สึกที่แท้จริงของผู้พูด เต็มไปด้วยพลัง มีชีวิตชีวา
สามารถตรึงผู้ฟังไว้ได้
ผู้พูดจะต้องเรียนรู้ข้อบกพร่องของการใช้เสียงโดยทั่วไป รู้หลักการใช้เสียงที่ถูกต้องและเลือกเรื่องที่อำนวยให้สามารถแสดงความรู้สึกในน้ำเสียงได้ดี
จุดมุ่งหมายสำคัญก็คือ ต้องการให้ผู้พูดแสดงความรู้สึกตามธรรมชาติออกมาในน้ำเสียง มีการเน้นหนักเบา สูงต่ำ
ทอดจังหวะ เร็ว รัว หรือหยุด อย่างเหมาะสม มิได้หมายถึงการดัดเสียงเป็นนักพากย์หนัง หรือเลียนเสียงสัตว์ต่าง ๆ อย่างจำอวด
ข้อบกพร่องของการออกเสียงโดยทั่วไป
๑.
เสียงเบาเกินไป
๒.
พูดช้าหรือเร็วเกินไป
๓.
พูดอึกอัก เอ้อ-อ้า
น่ารำคาญ
๔.
ท่วงทำนองเหมือนอ่านหนังสือหรือท่องจำ
๕.
พูดราบเรียบระดับเดียวกัน
ตั้งแต่ต้นจนจบ
น้ำเสียงที่ดีคือย่างไร
มีความจริงอยู่อย่างหนึ่งว่า “ธรรมชาติของเสียง เราปรับปรุงไม่ได้ แต่บุคลิกของเสียงเราปรับปรุงได้” น้ำเสียงของคนเราเกิดจาก หลอดลม
ลำคอ โพรงจมูก ลิ้น เหงือก ฟัน ริมฝีปากและอวัยวะอื่น ๆ ประกอบ แต่ละคนก็จะมีลักษณะของน้ำเสียงไปคนละแบบ การจะหาคนที่มีน้ำเสียงเหมือนกันนั้นยากมากพอ
ๆ กับการหาคนที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนกัน นักร้องอาจจะเลียนเสียงกันได้ แต่ไม่เหมือนกันทีเดียวและถึงแม้จะเหมือนกันก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าภูมิใจอะไร
นักพูดที่ดีจะต้องพยายามเป็นตัวของตัวเอง อย่าเลียนเสียง และลีลาของใคร
พยายามพูดให้เป็นแบบธรรมชาติ แต่ต้องพูดดังกว่าเดิม เพราะมีผู้ฟังจำนวนมาก
วิธีปรับปรุงน้ำเสียง
๑.
พูดให้เสียงดังฟังชัด
การพูดให้เสียงดังไว้ก่อน ได้ผลดีเสมอ
อย่างน้อยก็เป็นการปลุกผู้ฟังให้ตื่น
และแสดงถึงความเชื่อมั่นในตนเอง
มีปัญหาว่า
ดังแค่ไหนจึงจะนับว่าพอดี
คำตอบก็คือ ดังพอที่ผู้ฟังทั้งห้องได้ยิน ผู้ฟังน้อยก็ดังพอประมาณ ผู้ฟังมากถ้าไม่มีเครื่องขยายเสียงก็ต้องดังมากจนเกือบตะโกน แต่ถ้ามีเครื่องขยายเสียงที่ดี ก็ไม่จำเป็นต้องตะโกน
เพราะอาจดังเกินความจำเป็น
จนกลายเป็นแสบแก้วหู
ปัญหาต่อไปก็คือ จะทราบได้อย่างไรว่า ผู้ฟังทุกคนได้ยิน
ตอบได้ว่า จงคะเนให้ผู้ฟังที่นั่งอยู่แถวหลังสุดได้ยิน ก็นับว่าเพียงพอแล้ว
๒.
จังหวะการพูดไม่ช้าหรือเร็วเกินไป
การพูดช้าเกินไป ทำให้ผู้ฟังเบื่อหน่าย ง่วงเหงาหาวนอน พูดเร็วเกินไป
ทำให้ผู้ฟังติดตามไม่ทัน
และผิดพลาดได้ง่าย
ดั้งนั้นการพูดคล่องจึงไม่เป็นผลดีเสมอไป
วิธีพูดให้ได้จังหวะพอดี คือการหัดพูดหรือหัดอ่านเป็นประโยค ๆ เว้นวรรคตอนให้ถูก พูดให้ชัดเจน
ขาดคำขาดความ อย่าตู่คำตู่ประโยค อย่าพูดรัวเสียจนผู้ฟังรู้สึกเหนื่อยแทน
ข้อควรระวังสำหรับผู้ที่พูดติดอ่างหรือพูดไม่ชัด อย่าพยายามพูดเร็วเป็นอันขาด ลดอัตราให้ช้าลงกว่าที่เคยพูดตามปกติ มิฉะนั้นผู้ฟ้งจะฟังไม่รู้เรื่อง
๓.
อย่าพูดเอ้อ-อ้า
ไม่มีความจำเป็นใด ๆ
ที่จะต้องพูดคำเอ้อหรือคำอ้า
เพราะไม่ผลดีใด ๆ ทั้งสิ้น
โดยมากพูดติดเอ้อ-อ้ากันแทบทุกประโยค
มีทั้งอย่างสั้นและอย่างยาว
น่ารำคาญสิ้นดี
บางคนติดมาโดยไม่มีเหตุผลอะไร
นึกว่ามันเป็นของโก้เก๋ บางคนติดมาเพราะคิดอะไรไม่ทัน ก็เอาคำเอ้-อ้า บรรจุเข้าไปตามช่องว่างต่าง
ๆ บางคนเลียนแบบนักพูดดัง ๆ ก็น่าแปลกใจว่าสิ่งที่ดี ๆ
ทำไมไม่เลียน มาเลียนเอาแต่คำเอ้อ-อ้า
ผลเสียของการพูดเอ้อ-อ้า คือเสียเวลา
เสียรสชาติของการพูด
ทำให้ผู้ฟังรำคาญและบางครั้งคำว่า “อ้า” อาจทำให้ประโยคทั้งประโยคเสียความหมายไปเลยก็ได้ ทางที่ดีควรตัดออกให้เหลือน้อยที่สุด หรือไม่มีเลยยิ่งดี ติดขัดก็เว้นจังหวะไป
การหยุดบ้างเป็นบางครั้ง
กลับเป็นผลดีมากกว่าการพูดไม่ติดขัดเสียด้วยซ้ำ จึงไม่จำเป็นต้องบรรจุ ๒
คำนี้เข้าไปเลย ไม่ว่ากรณีใด ๆ
พึงระลึกไว้เสมอว่า “เอ้อ - เสียเวลา อ้า–เสียคน”
๔.
อย่าพูดเหมือนอ่านหนังสือหรือท่องจำ
ท่วงทำนองแบบอ่านหนังสือหรือท่องจำ คือ พูดคล่องเป็นเรือล่องตามน้ำ พูดไม่มีจังหวะจะโคน ไม่มีชีวิตชีวา ติดจะเร็วไปนิดและตาเหม่อลอย
คล้ายกับกลัวจะลืมที่ท่องมา
พอถึงตอนที่ติดขัดนึกไม่ออกก็เสียขบวนไปเลย
บางครั้งพูดผิดแล้วมัวทวนซ้ำใหม่ จนผู้ฟังจับได้ว่าท่องจำมาพูด แทนที่จะหาทางพลิกแพลงประโยค หรือพูดดัดแปลงที่ผิดให้กลายเป็นถูก ส่วนมากการพูดแบบนี้มักมีคำว่า “ขอโทษ” ปนอยู่ประปราย เช่นเดียวกับนักเรียนอ่านออกเสียงหน้าชั้น
ทางที่ดีควรหัดพูดในลีลาสนทนา คือ
พูดไปนึกไป
ถ่ายทอดความคิดโดยตรงจาก
ผู้พูดไปสู่ผู้ฟัง
๕.
พูดด้วยความรู้สึกที่จริงใจ
ต้องใส่ความกระตือรือร้น ใส่อารมณ์และความรู้สึกลงไป อย่าพูดราบเรียบโดย ใช้เสียงทำนองเดียว ผู้ฟังไม่ใช่หัวหลักหัวตอ ไม่ใช่ขอนไม้
ที่จะมานั่งฟังเรื่องราวอันจืดชืด
ไม่เป็นรสของท่าน พยายามเตือนตัวเองตลอดเวลาว่า กำลังพูดอยู่ต่อหน้าคนซึ่งมีชีวิตจิตใจ มีความรู้สึกตอบสนอง
การพูดที่จริงใจจะออกมาในรูปของการเน้นหนักเบา เสียงสูงเสียงต่ำ การเน้นจังหวะ
การรัวจังหวะ
ตลอดจนการหยุดเล็กน้อยก่อนหรือหลังการพูดที่สำคัญ ๆ
สิ่งเหล่านี้แสร้งทำไม่ได้ ต้องอาศัยการฝึกซ้อม การคุ้นเวที
การปลุกความรู้สึกของตนเองให้มีความรู้สึกและเชื่อตามนั้นจริง ๆก่อน จึงจะสามารถถ่ายทอดอย่างมีชีวิตชีวาให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกคล้อยตามได้
มีคำเตือนที่น่าจดจำอยู่ว่า
“อย่าพูดจนกว่าท่านจะมี
ความเข้าใจ ในเรื่องที่ท่านจะพูด
อย่าพูดจนกว่าท่านจะมี ความเชื่อ เรื่องที่ท่านพูดและอย่าพูดจนกว่าท่านจะมี ความรู้สึกตาม เรื่องที่ท่านพูด”
ความรู้สึกที่จริงใจมิใช่การระบายอารมณ์
ผู้พูดที่กลายเป็นคนเจ้าอารมณ์
จะไม่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากผู้ฟังเลยเป็นอันขาด
“นักพูดที่ดีย่อมไม่สักแต่ใช้อารมณ์อย่างเดียว แต่ต้องรู้จักใช้สติ
ควบคุมอารมณ์ให้อยู่ในแนวทาง ที่จะช่วยสนับสนุนประเด็นของตนด้วย”
การรู้จักใช้อารมณ์ในขณะที่พูด
จะเป็นเครื่องสนับสนุนความมุ่งหมายของผู้พูดที่จะช่วยผูกมัดใจผู้ฟังได้สำเร็จ
ปฏิกริยาที่เกิดขึ้น
ขณะผู้พูดระบายอารมณ์ คือผู้พูดเหนื่อย
ผู้ฟังหัวเราะ
ปฏิกริยาที่เกิดขึ้น
ขณะผู้พูดพูดจากความจริงใจ คือผู้พูดไม่เหนื่อย
ผู้ฟังเงียบกริบ
ในการพูด
เราจึงพูดอย่างราบเรียบเรื่อยเฉื่อยไม่ได้
ต้องสอดใส่ความรู้สึกและอารมณ์ลงไป
อาศัยขั้นตอนการจูงใจ
เพื่อชักจูงให้ผู้ฟังมีอารมณ์ร่วมไปกับเราจนถึงจุดสุดยอดของสุนทรพจน์
การพูดจูงใจ
การพูดเพื่อชักจูงใจ เป็นการพูดเพื่อให้ผู้ฟังได้รู้ เพื่อให้ผู้ฟังเชื่อและเพื่อให้ผู้ฟังเห็นด้วยทั้งทางความคิดและการกระทำตามความมุ่งหมายของผู้พูด
เป็นการพูดให้ผู้ฟังมีความเห็นคล้อยตามและปฏิบัติตาม เป็นการพูดอย่างมีเหตุผล เพื่อโน้มน้าวจิตใจ เกลี้ยกล่อมชักจูงให้ผู้ฟังคล้อยคาม
จุดมุ่งหมายของการพูดจูงใจ เพื่อชักจูงให้ผู้ฟังเห็นด้วย คล้อยตามในข้อเรียกร้อง วิงวอนหรือข้อประท้วง เพื่อให้เปลี่ยนความเชื่อความคิด เพื่อกระตุ้นอารมณ์ให้ทำหรือปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง
หลักการพูดจูงใจ
๑.
ให้ผู้ฟังสนใจในการพูด
๒.
ทำให้ผู้ฟังไว้วางใจ และมีศรัทธาในถ้อยคำของผู้พูด
๓.
บรรยายถึงเหตุผล ข้อเท็จจริง
เพื่อเป็นความรู้แก่ผู้ฟังเกี่ยวกับคุณค่าของปัญหาที่นำมาแสดง
๔.
พูดด้วยการวิงวอนคน จูงใจให้ผู้ฟังปฏิบัติตาม กล่าวถึงประโยชน์ที่จะได้รับ
ปฏิภาณไหวพริบ
ในขณะที่ผู้พูดกำลังจะพูด
หรือดำเนินการพูดอยู่
อาจมีปัญหาเฉพาะหน้าเกิดขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นในการสัมมนา การพูดกับฝูงชน การอภิปราย
หรือการตอบข้อสงสัยหลังการพูด
ปัญหาที่ ไม่คาดคิดต่าง ๆ นี้
ผู้พูดจะต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบเพื่อแก้ไขให้การพูดเป็นไปด้วยดี เช่น
๑.
เมื่อผู้ฟังแสดงความไม่พอใจหรือไม่เป็นมิตรกับผู้พูด จงยิ้ม
เพราะการยิ้มแสดงถึงความรัก
ความชอบ ความเป็นมิตร ผู้ฟังก็จะมีไมตรีตอบผู้พูด
๒. เมื่อผู้ฟังหรือคู่สนทนาโต้เถียงกับท่าน จงหลีกเลี่ยงการโต้เถียง
เพราะจะเป็นผลให้เกิดโทษและทำลายอำนาจบังคับตนเอง ควรรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว ใช้ความสุขุมรอบคอบ ประนีประนอม
และเห็นอกเห็นใจ ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นแง่คิดของอีกฝ่ายหนึ่งได้
การอ่อนน้อมถ่อมตนจะช่วยให้อีกฝ่ายหนึ่งยอมรับความคิดเห็นของเราง่ายขึ้น และมีการโต้แย้งน้อยลง
๓.
เมื่อผู้ฟังหรือคู่สนทนาตำหนิติเตียนหรือกล่าวโทษท่าน จงพูดปรักปรำลงโทษตัวเองในประการต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นการลดความขุ่นเคืองของผู้ฟังลงได้ การกระทำเช่นนี้ จะเป็นการจูงใจให้เขาเป็นคนใจกว้าง เปลี่ยนท่าทีโอนอ่อนไปในทางที่ให้อภัย
และเห็นความผิดของเราเป็นสิ่งเล็กน้อย
จงใช้วิธีสุภาพอ่อนโยน
นุ่มนวล แสดงความเป็นมิตร
๔.
เมื่อพูดกับฝูงชนที่กำลังคลั่งแค้นในลักษณะที่บ้าคลั่ง จงหลีกเลี่ยงการให้เหตุผลเมื่อแรกพบ วิธีที่ดีที่สุดคือ พยายามพูดให้ฝูงชนรู้สึกว่าเราเห็นใจเขา
และเป็นฝ่ายเดียวกับเขา
พร้อมกับพยายามพูดชักจูงเพื่อเบนความสนใจหรือได้คิดได้ไตร่ตรอง
จากนั้นจึงเสนอแนะให้
พวกเขาหาทางออกด้วยวิธีอื่นต่อไป
๕. เมื่อพูดกับฝูงชนที่เสนอข้อเรียกร้อง ผู้พูดจะต้องตั้งสติให้มั่น
อย่าแสดงอาการตกใจหรือรู้สึกหวาดหวั่นมากเกินไป เมื่อสอบถามถึงข้อเรียกร้องแล้ว ไม่ควรจะตอบรับหรือตอบปฏิเสธทันที ควรพูดรับแต่เพียงว่า “จะขอรับข้อเสนอทั้งหมดไว้ให้ผู้มีอำนาจพิจารณา” หรือหากท่านเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด อาจตอบอย่างมีความหวังว่า “ ขอรับข้อเรียกรร้องทั้งหมดนี้
ไว้พิจารณา และจะให้ความเป็นธรรมแก่ทุกคน”
๖.
เมื่อพูดกับฝูงชนที่บีบคั้นให้ตอบคำถามที่ไม่มีทางเลือก เช่น “จะจัดการหรือไม่”
“จะทำหรือไม่” “จะเพิ่มเติมหรือไม่” หรือ “จะแก้ไขหรือไม่” ควรตอบว่า ตนยังไม่ทราบข้อเท็จจริง จะต้องทราบข้อเท็จจริงเสียก่อนจึงจะตอบให้ทราบ
โดยพยายามใช้คำพูดแสดงความตั้งใจที่จะช่วยเหลือ และให้ความร่วมมือ เช่น พูดว่า
เห็นใจเขา เข้าใจพวกเขาดี
จะพยายามหาหนทางแก้ไขโดยเร็วที่สุด
จะประชุมกรรมการด่วน จะพิจารณาให้คำตอบโดยเร็วที่สุด เป็นต้น
๗.
เมื่อสังเกตเห็นว่าผู้ฟังรู้สึกเบื่อหน่าย
ไม่สนใจในเรื่องที่ผู้พูดกำลังพูด
แต่กลับไปทำสิ่งอื่นเสีย
เช่นอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ มองออกนอกหน้าต่าง คุยกัน เช่นนี้ ผู้พูดควรเปลี่ยนวิธีพูดเสียใหม่ เช่น
พูดให้เร็วขึ้น
รวบรัดเข้าสู่จุดสำคัญเร็วขึ้น
หรือเพิ่มอารมณ์ขันแทรกเข้าไป
กล่าวโดยสรุป ตลอดเวลาที่พูด
ผู้พูดควรใช้ไหวพริบสังเกตอากัปกริยาของผู้ฟัง
สังเกตความรู้สึกที่มีต่อเรื่องที่พูด
ถ้าสังเกตเห็นว่าผู้ฟังมีปฏิกริยาตอบในทางที่ไม่พึงประสงค์ ผู้พูดต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้านั้นได้ทันท่วงที การพูดจึงจะประสบผลสำเร็จ
การบรรยายหรือการอธิบาย
ในบางครั้งอาจได้รับเชิญให้ไปบรรยายในที่ต่าง
ๆ
การพูดแบบนี้ต้องใช้การอธิบายเพื่อชี้แจง
หรือให้ความรู้
วิธีการอธิบายอาจทำได้หลายแบบ
เช่น การซักถาม การยกตัวอย่าง หรือ การเปรียบเทียบ เป็นต้น
วัตถุประสงค์ของการบรรยายหรืออธิบาย
การบรรยายหรือการอธิบายมีวัตถุประสงค์เพื่อ
๑.
ให้ข้อมูลข่าวสาร โดยการบอกเล่าและชี้แจง
๒.
ให้ความรู้และสาระ โดยการอธิบายหรือชี้แจง
๓.
สร้างความเข้าใจ โดยการยกตัวอย่างและตีความ
๔.
แสดงความคิดเห็น ความรู้สึก และเจตคติ โดยการเสนอความคิดแก่ผู้ฟัง
วิธีพูดแบบบรรยายหรืออธิบาย
วิธีพูดแบบบรรยายหรืออธิบายอาจทำได้ดังนี้
๑.
ศึกษาค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลของเรื่องที่จะพูดไว้อย่างป็นระบบ
๒.
กำหนดขอบเขต แนวคิดและประเด็นที่สำคัญ
๓.
หาเหตุผล
คำกล่าวอ้างและข้อค้นพบต่าง ๆ ไว้สนับสนุนเนื้อหาสาระ
๔.
เลือกตัวอย่างหรือกรณีศึกษาต่าง
ๆ ไว้ประกอบการพูด เพื่อเพิ่มน้ำหนัก และความน่าเชื่อถือ
๕.
วางเค้าโครงเรื่องและจัดระบบความคิด
๖.
ร่างบทพูด ตั้งแต่อารัมภบท เนื้อเรื่อง และบทสรุป
๗.
หากต้องใช้อุปกรณ์ประกอบการบรรยาย ควรจัดเตรียมให้พร้อม และซักซ้อม การใช้ให้ชำนาญ
๘.
ก่อนการบรรยายควรทบทวนร่างเนื้อหา การจัดลำดับก่อนหลังให้แน่นอน และต้องรักษาเวลาให้พอดีตามที่กำหนดให้
๙.
ขณะบรรยาย ควรคำนึงถึงหลักการพูดอย่างถูกวิธี เช่น
การใช้สายตา การใช้เสียง การใช้ถ้อยคำ การใช้ท่วงท่าและลีลาประกอบ เป็นต้น
องค์ประกอบของการบรรยายที่มีประสิทธิภาพ
การบรรยายหรือการอธิบายที่ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพ ควรคำนึงถึงเรื่องต่อไปนี้
๑. ลักษณะของผู้บรรยาย ผู้บรรยายจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาที่จะบรรยายเป็นอย่างดี
สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ฟังได้ มีความสามารถในการใช้ถ้อยคำ มีไหวพริบปฏิภาณ และมีบุคลิกภาพเหมาะสมน่าเชื่อถือ
๒. การนำเสนอ
ต้องเสนอเรื่องราวอย่างเป็นขั้นตอน
สรุปแนวคิดให้ชัดเจน ขยายความ
และตีความได้ถูกต้อง ตลอดจนนำเสนอได้สอดคล้องและบรรลุจุดมุ่งหมายของเรื่องราวนั้น
ๆ
๓. บรรยากาศของการบรรยาย
ต้องมีสถานที่และสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย
เรื่องที่พูดอยู่ในความสนใจของผู้ฟัง
พยายามดึงผู้ฟังให้มีส่วนร่วม
และสามารถควบคุมเวลาได้ตามกำหนด
การพูดแบบเล่าเรื่อง
การเล่าเรื่อง
เป็นการถ่ายทอดความคิด ประสบการณ์
ความรู้สึก ความต้องการ และเจตนารมณ์ต่าง ๆ ของผู้เล่า
เพื่อให้ผู้ฟังรับรู้และเกิดปฏิกริยาต่าง ๆ เป็นการตอบสนองที่มีสัมฤทธิผลตรงตามจุดมุ่งหมายของผู้เล่า
วัตถุประสงค์ของการพูดแบบเล่าเรื่อง
๑.
เพื่อให้ความรู้ โดยผู้เล่าเป็นผู้ให้ความรู้ มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับเรื่องที่เล่า
สามารถ อธิบายหลักเกณฑ์หรือข้อเสนอแนะต่าง ๆ ได้
๒.
เพื่อให้เกิดจินตนาการแก่ผู้ฟัง โดยผู้เล่าต้องใช้คำพูดและเสียงประกอบให้ผู้ฟังใช้
ความคิด
สร้างจินตนาการและนึกเห็นภาพราวกับสัมผัสด้วยตนเอง
๓.
เพื่อให้ความบันเทิง โดยผู้เล่าต้องสอดแทรกอารมณ์ ความรู้สึกให้เข้ากับเนื้อเรื่อง
เพื่อให้ผู้ฟังผ่อนคลายความตึงเครียด สนุกสนาน
ตื่นเต้น และได้รับความเพลิดเพลิน
๔.
เพื่อชักจูงให้ผู้ฟังเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมไปในทางที่ดี
โดยผู้เล่าควรใช้ถ้อยคำ
แสดงความหนักแน่น ใช้สุภาษิตคำคม
การเปรียบเทียบหรือเหตุการณ์จริงประกอบให้ชัดเจน
๕.
เพื่อการสั่งสอนอบรม โดยผู้เล่าต้องใช้สาธกโวหาร
และอุปมาอุปไมยโวหารมา
ประกอบให้ผู้ฟังเห็นจริง เกิดความรู้สึกคล้อยตาม เพื่อเปลี่ยนแปลงความคิดไปในทางที่ดี
๖.
เพื่อแสดงความคิดเห็น โดยผู้เล่าควรมีประสบการณ์และมีข้อมูลมาประกอบ
ให้ถูกต้อง
การเล่าลักษณะนี้จะมีการให้ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะต่าง ๆ
วิธีพูดแบบเล่าเรื่องอาจทำได้ดังนี้
๑.
ต้องกำหนดจุดมุ่งหมายก่อนว่าต้องการให้ผู้ฟังได้รับประโยชน์อะไร แล้วเลือกเรื่อง
ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์
๒.
เตรียมเรื่องโดยวางเค้าโครง ลำดับใจความ
เตรียมสำนวนภาษา การใช้คำพูด
ท่าทาง
เสียง และสื่อประกอบการเล่าเรื่อง
๓.
วางแผนการเล่าโดยมีการเริ่มเรื่อง ดำเนินเรื่องและจบเรื่อง เพื่อให้เกิดการติดตามฟัง
๔.
ควรจัดบรรยากาศในการเล่าเรื่องให้เหมาะสม
๕.
ดึงความสนใจของผู้ฟังให้มีส่วนร่วม เช่น
การซักถาม เป็นต้น
๖.
มีการใช้เสียงเร้าความสนใจ เช่น
การทอดเสียง การเน้นจังหวะ การเน้นคำ
การใส่อารมณ์
เป็นต้น
๗. มีการประเมินผลการฟัง โดยการซักถาม หรือตั้งคำถามให้ผู้ฟังร่วมกันตอบ
การพูดในโอกาสและสถานการณ์ต่าง
ๆ
จุดมุ่งหมาย
โอกาสที่จะต้องกล่าวคำปราศรัย หรือพูดต่อที่ชุมนุมชน มีมากมายเหลือเกิน ทั้งแบบเป็นทางการ และแบบไม่เป็นทางการ ทุกคนจะต้องเผชิญปัญหาเฉพาะหน้าในเรื่องการพูด
ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ตราบใดที่ยังอยู่กับสังคม
ผู้ฝึกจะต้องเรียนรู้หลักทั่วไปของการกล่าวสุนทรพจน์ในโอกาสต่าง
ๆ
แล้วเลือกเตรียมสุนทรพจน์สักแบบหนึ่งมากล่าวในที่ประชุม
โดยสมมุติสถานการณ์ขึ้นว่าจะกล่าวในโอกาสอะไร ผู้ฟังในห้องประชุมเป็นใคร และตนเองกล่าวในฐานะอะไร จะเป็นเรื่องจริงหรือเลียนแบบ โดยสมมุติสถานการณ์แปลก ๆ ขึ้นก็ได้ แต่ต้องสมเหตุสมผล ถ้าเป็นเรื่องทีเล่นทีจริงต้องระวัง อย่าให้ผู้ใดเสียหายโดยไม่จำเป็น
ในการกล่าวรายงานหรือแถลงเป็นทางการ
อาจมีต้นร่างมาอ่านเพื่อไม่ให้ผิดพลาดตกหล่น
แต่ผู้พูดจะต้องรักษาบุคลิกภาพในการพูดให้เหมาะสม ไม่ก้มหน้าดูบทตลอดเวลา ต้องใช้สายตาดูบทเพียง ๑ ใน ๓ อีก ๒ ใน ๓
มองผู้ฟัง
ข้อควรคำนึงสำหรับการพูดในโอกาสต่าง
ๆ
เมื่อได้รับมอบหมายให้เป็นผู้พูดในโอกาสใดก็ตาม ที่มิใช่เป็นงานประจำหรือมิใช่งานปาฐกถาธรรมดาทั่ว
ๆไป
ผู้พูดควรสำรวจวิเคราะห์สิ่งต่อไปนี้ก่อน
๑.
จุดมุ่งหมายของการประชุม
-
การประชุมนั้นจัดขึ้นเพื่ออะไร
-
ผู้ฟังเป็นใคร มาประชุมในฐานะอะไร
-
สาระสำคัญของการประชุมอยู่ตรงไหน
๒.
ลำดับรายการ
-
มีรายการเรียงลำดับกันไว้อย่างไร
-
ผู้พูดอยู่ในฐานะอะไร กล่าวในนามใคร
-
เวลาที่กำหนดไว้นานเท่าใด หรือควรจะนานเท่าใด
-
ก่อนหรือหลังรายการพูดมีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจพิเศษอย่างใดหรือไม่
๓.
สถานการณ์
-
ผู้ฟังกำลังใจจดใจจ่อ อยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษหรือไม่
-
ผู้ฟังมาด้วยใจสมัคร หรือถูกขอร้อง
ถูกบังคับให้มาฟัง
-
ผู้ฟังรู้จักผู้พูดหรือไม่ เลื่อมใสอยู่แล้วหรือไม่ชอบหน้า
เมื่อใดควรอ่านจากร่าง
โดยทั่วไปการพูดที่จืดชืดน่าเบื่อหน่ายที่สุด
คือ
การอ่านจากต้นฉบับที่เตรียมไว้ เพราะเป็นการพูดที่ไม่ได้ออกมาจากความรู้สึกอย่างจริงใจของผู้พูด
ผู้อ่านไม่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดออกมาได้ดีเท่ากับการพูดปากเปล่า
ดั้งนั้น การอ่านจึงเหมาะสำหรับกรณีต่อไปนี้เท่านั้น
๑.
ในโอกาสพระราชพิธี
๒.
ในการเปิดประชุม หรือเปิดงานต่าง ๆ อย่างเป็นทางการ
๓.
การรายงานทางวิชาการ หรือสรุปการประชุม
๔.
การอ่านข่าวหรือบทความทางวิทยุ โทรทัศน์
ที่ผ่านการตรวจสอบมาแล้ว
๕.
โอกาสสำคัญอื่น ๆ ซึ่งไม่ต้องการให้มีการพูดขาดหรือเกิน
นอกจากการอ่านทุกคำจากต้นฉบับที่สมบูรณ์แล้ว ยังมีการอ่านอีกแบบหนึ่ง ซึ่งอาศัย
หลักเดียวกัน แต่ไม่ได้อ่านทั้งหมด
อ่านแต่เพียงข้อความบางตอนที่ยกมาประกอบ
เช่น ตัวเลข สถิติ วันเดือนปี
จดหมายเหตุในประวัติศาสตร์
ข้อความในอัญญประกาศ
คำประพันธ์ สุภาษิต คำสอนทางศาสนา
เป็นต้น
ข้อควรระวังในการอ่าน
๑.
ควรซ้อมอ่านต้นฉบับให้คุ้นกับจังหวะ
วรรคตอนเสียก่อน
๒.
ต้นฉบับต้องเขียนหรือพิมพ์ให้อ่านง่าย
๓.
ไม่ควรเย็บติดกัน ควรวางซ้อนกันไว้ เรียงลำดับเลขหน้าให้เรียบร้อย
เพื่อไม่ให้เกิดเสียงดังเวลาพลิกหน้าต่อไป
๔.
ในเมื่อจะต้องอ่านก็ไม่ควรทำลับ ๆ
ล่อ ๆ ควรวางต้นฉบับไว้บนแท่น หรือถือด้วยมือทั้งสองข้าง ถ้าไม่มีแท่นให้วาง
๕.
อย่าก้มหน้าก้มตาอ่านตลอดเวลา ถ้าได้ซักซ้อมกันมาแล้ว เพียงแต่เหลือบสายตา ก็อาจอ่านได้ตลอดบรรทัดหรือทั้งประโยค
๖.
ใช้สายตามองต้นฉบับเพียง ๑ ใน ๓
ที่เหลือมองที่ประชุม
๗.
ระวังอย่าให้ขาดตอนเมื่อจะขึ้นหน้าใหม่
๘.
รักษาท่วงทำนองการพูดใหม่ อย่าให้เป็นสำเนียงอ่าน
โอกาสต่าง ๆ
ในการพูด
การพูดในโอกาสพิเศษ อาจแบ่งออกได้เป็น ๗
ประเภทใหญ่ ๆ คือ
๑.
กล่าวแสดงความยินดี/กล่าวตอบ
๒.
กล่าวไว้อาลัย
๓.
กล่าวอวยพร/กล่าวตอบ
๔.
กล่าวสดุดี
๕.
กล่าวมอบรางวัลหรือตำแหน่ง/กล่าวตอบ
๖.
กล่าวต้อนรับ
๗.
กล่าวแนะนำผู้พูด-องค์ปาฐก
หลักทั่วไป
๑.
พยายามคิดค้นหาลักษณะเฉพาะของโอกาสหรือบุคคลที่กล่าวถึง
อย่าพูดเหมือนกันทุกงาน
๒.
อย่าลืมการขึ้นต้น และการลงท้ายที่ดี
๓.
อย่าพูดนานเกินไป ควรรวบรัดที่สุด
๔.
ใช้อารมณ์ขันบ้าง ถ้าเหมาะสม
ตัวอย่างสถานการณ์และหัวข้อการพูด
๑.
กล่าวแสดงความยินดี
ก.
แสดงความยินดีในโอกาสรับตำแหน่งใหม่
-
ผู้กล่าว กล่าวในนามของใคร
-
ยกย่องในความวิริยะอุตสาหะและคุณความดี
-
อวยพรหรือมอบของที่ระลึก
-
อย่าชักชวนผู้ฟัง ปรบมือ ควรปล่อยให้ผู้ฟังตัดสินใจเอง หรือปรบมือนำ
ข.
กล่าวตอบ
-
ขอบคุณ
-
ปวารณาตัวรับใช้
ยืนยันในความเป็นกันเองเหมือนเดิม
-
อวรพรตอบ
๒.
กล่าวไว้อาลัย
ก.
กล่าวให้เกียรติผู้ตาย
-
ยกย่องคุณความดีของผู้ตาย
-
ให้เกียรติและให้ความอบอุ่นแก่ญาติมิตรผุ้ตาย
-
ชักชวนให้ยืนไว้อาลัย
(ไม่ควรมีการปรบมือเด็ดขาด)
ข.
กล่าวแสดงความอาลัยในการย้ายงาน
-
ชมเชยในผลงานที่ปฏิบัติ
-
กล่าวถึงความรักความอาลัยของผู้ใต้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงานทุกคน
-
หวังว่าจะก้าวหน้าและทำประโยชน์ต่อไป
-
อวยพรให้เดินทางโดยสวัสดิภาพและประสบความสำเร็จ
๓.
กล่าวอวยพร
ก.
อวยพรขึ้นบ้านใหม่
-
ความสำเร็จในครอบครัวอยู่ที่การมีบ้านช่องเป็นหลักฐาน
-
ความซื่อสัตย์สุจริตและขยันหมั่นเพียรของเจ้าของบ้าน
-
อวยพรให้ประสบความสุข
ข.
อวยพรวันเกิด
-
ความสำคัญของวันนี้
-
คุณความดีของเจ้าภาพ
-
ความเจริญเติบโต ก้าวหน้า หรือเป็นที่พึ่งของบุตรหลาน
-
อวยพรให้อายุยืนนาน
ค.
อวยพรคู่สมรส
-
ความสัมพันธ์ของตนต่อคู่สมรส หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
-
ความยินดีที่ทั้งสองครองชีวิตคู่
-
อวยพร
ง.
กล่าวตอบรับพระ(ทุกอย่าง)
-
ขอบคุณในเกียรติที่ได้รับ
-
ยืนยันจะรักษาคุณงามความดี
และปฏิบัติตามคำแนะนำ
-
อวยพรตอบ
๔.
กล่าวสดุดี
ก.
กล่าวมอบประกาศนียบัตรสดุดี
-
ความหมายและความสำคัญของประกาศนียบัตร
-
ความเหมาะสมของผู้ได้รับประกาศนียบัตร
-
มอบ สัมผัสมือ และปรบมือให้เกียรติ
ข.
กล่าวสดุดีบุคคลสำคัญที่ล่วงลับไปแล้ว
-
ความสำคัญที่มีต่อสถาบัน
-
ผลงานและมรดกตกทอด
-
ยืนยันจะสืบต่อมรดกนี้อย่างเต็มความสามารถ
-
แสดงคารวะ/ปฏิญาณร่วมกัน
๕.
กล่าวมอบรางวัลหรือตำแหน่ง
ก.
มอบตำแหน่ง
-
ชมเชยความสามารถและความดีเด่นของผู้ที่ได้รับตำแหน่ง
-
ความหมายและเกียรตินิยมของตำแหน่งนี้
-
ฝากความหวังไว้กับผู้ดำรงตำแหน่งใหม่
-
มอบของที่ระลึกหรือเข็มสัญญลักษณ์
-
สัมผัสมือและปรบมือให้เกียรติ
ข.
รับมอบตำแหน่ง
-
ขอบคุณที่ให้ความไว้วางใจและให้เกียรติ
-
ชมเชยกรรมการชุดเก่า(ส่วนดีเด่น)ที่กำลังจะพ้นไป
-
แถลงนโยบายโดยย่อ
-
ให้คำสัญญาจะรักษาเกียรติและปฏิบัติหน้าที่อย่างดียิ่ง
-
ขอความร่วมมือจากกรรมการและสมาชิกทุกคน
๖.
กล่าวต้อนรับ
ก.
ต้อนรับสมาชิกใหม่
-
ความสำคัญและความหมายของสถาบัน
-
หน้าที่และสิทธิที่สมาชิกจะพึงได้รับ
-
กล่าวยินดีต้อนรับ
-
มอบเข็มสัญญลักษณ์(ถ้ามี) สัมผัสมือ
ข.
ต้อนรับผู้มาเยือน
-
เล่าความเป็นมาของสถาบันโดยย่อ
-
ความรู้สึกยินดีที่มีโอกาสต้อนรับ
-
มอบหนังสือหรือของที่ระลึก
-
แนะนำให้ที่ประชุมรู้จัก
และเชิญกล่าวตอบ
๗.
กล่าวแนะนำผู้พูด- องค์ปาฐก
-
เหตุที่ต้องพูดเรื่องนี้
-
ความรู้ ประสบการณ์ และความสำคัญของผู้พูด
โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องนี้
-
สร้างบรรยากาศเป็นกันเองระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง
ทำให้ผู้พูดอยากพูดและ
ผู้ฟังอยากฟัง
-
อย่าแนะนำยาวเกินไป
และอย่ายกยอจนเกินความจริง
ความเชื่อเกี่ยวกับอารมณ์ขัน
เชื่อกันว่าอารมณ์ขันขึ้นอยู่กับนิสัยของคนบางคน คนที่เกิดมามีอารมณ์ขันจะพูดอะไร ทำอะไรก็มีอารมณ์ขันแฝงอยู่ด้วยเสมอ ดาวตลกบางคนพอเห็นเราก็หัวเราะแล้ว ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้แสดงอะไรตลก ๆ ให้เราดูเลย
ส่วนคนที่ไม่มีอารมณ์ขัน จะพยายามสร้างอารมณ์ขันขึ้นมานั้นยากมาก เป็นการฝืนความรู้สึกเหลือเกิน แต่เราจะปฏิเสธความจริงข้อหนึ่งไม่ได้ คือ
มนุษย์ทุกคนต่างก็มีอารมณ์ขันด้วยกันทั้งนั้นไม่มากก็น้อย ทุกคนจะหัวเราะหรือไม่ก็ยิ้ม เมื่อเห็นใครแกล้งเขียนป้ายข้อความประหลาด
ๆ
แอบแขวนไว้ที่หูกางเกงด้านหลังของใครสักคน
ทุกคนจะหัวเราะเมื่อเห็นใครสักคนเหยียบเปลือกกล้วยหอมลื่นหกล้ม
และทุกคนจะชอบใจ
เมื่อเห็นใครแกล้งทำให้คนบ้าจี้ตกใจและพูดอะไร ๆ ชอบกล ๆ ออกมา
คนที่ขรึมที่สุดก็จะมีอารมณ์ขัน
ถ้าอยู่ระหว่างเพื่อนฝูงที่สนิทกันจริง ๆ
แต่ถ้าอยู่ท่ามกลางคนแปลกหน้าเขาจะปิดปากเงียบ ไม่ยอมพูดจาเล่นหัวกับใครเลย
วิธีสร้างอารมณ์ขัน
คนที่ปรารถนาจะเป็นผู้พูดที่ดี ก็มีทางจะทะนุถนอมปลูกฝังอารมณ์ขันของตนเองให้เจริญงอกงามได้โดยไม่ต้องอาศัยพรสวรรค์อะไรเลย ลองลงมือปฏิบัติตามนี้
๑.
อ่านหนังสือประเภทขำขันโดยเฉพาะ
๒.
สังเกตวิธีการวิพากย์วิจารณ์ของนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ที่มีอารมณ์ขัน
๓.
มองโลกในแง่ดี มองเรื่องร้ายในมุมกลับดูบ้าง
๔.
จดจำวิธีการพูดของนักพูดบางคนที่มีอารมณ์ขัน
๕.
หัดสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้อื่น พยายามหาตัวอย่างแปลก ๆ ขำ ๆ มาเล่าสู่กันฟัง อย่าเป็นคนเคร่งเครียดจนเกินไป
๖.
เมื่อมีโอกาสพูดต่อที่ประชุม หาตัวอย่างเหมาะ ๆ แทรกเข้าไปบ้าง ให้เกิดอารมณ์ขัน ถ้าผู้ฟังไม่ขัน
จงสำรวจว่าจังหวะและวิธีการเล่าอาจผิดพลาดตรงไหนบ้าง แล้วพยายามปรับปรุงในโอกาสต่อไป
๗.
พยายามสร้างจิตใจให้เป็นกันเองกับผู้ฟังและคนทุกคน
อารมณ์ขัน ๖
ประเภท
ต่อไปนี้เป็นประเภทต่าง
ๆ ของการสร้างอารมณ์ขัน ที่ใช้กันทั่วไป ๖
ประเภท คือ
๑. ทำเรื่องเล่นให้เป็นเรื่องจริง
ผู้ฟังรู้อยู่แล้วว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสมมุติ หรือนิยายปรัมปรา ผู้พูดนำมาดัดแปลง เพิ่มเติมรายละเอียดเข้าไป กลายเป็นเรื่องสนุกสนานกว่าเดิมเสียอีก ตัวอย่าง เช่น
บรรยายเรื่องการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง แล้วยกเอาเรื่อง“ผู้ใหญ่ลี”มาเล่าเป็นตุเป็นตะทั้ง ๆ
ที่ผู้ฟังรู้กันอยู่แล้วก็อดหัวเราะไม่ได้
๒. ท่าดีทีเหลว
ผู้พูดทำทีเป็นผู้รู้เรื่องราวที่พูดเป็นอย่างดี พูดไปพูดมาก็ชักเลอะ ๆ เลือน
ๆแล้วพาลสรุปจบลงข้าง ๆ คู ๆ
ผู้ฟังรู้อยู่ตั้งแต่ต้นแล้วว่าต้อง “ตกม้าตาย” ครั้นเห็นผู้พูด “ตกม้าตาย”จริง
ๆ ก็ชอบใจ
ทั้งนี้ต้องไม่ใช่เรื่องใหญ่โตหรือโอกาสสำคัญ ๆ
๓. ลับลมคมใน ถ้ารู้อยู่ว่า
ผู้ฟังส่วนใหญ่เข้าใจตื้นลึกหนาบางในเรื่องเกี่ยวกับบุคคล หรือสถาบันนั้น ๆ
อยู่อย่างดี ผู้พูดอาจใช้คำพูดเปรียบเทียบมีลับลมคมใน ผู้ฟังคิดแล้วอาจฮาได้ จะโกรธกันก็ไม่ได้เพราะไม่ได้ว่าออกมาตรง ๆ เพียงแต่เฉียด
ๆ ไปเท่านั้น แต่เรื่องนี้ต้องระวังอย่าถึงกับกล่าวล่วงเกินหรือลามปามมากเกินไป แทนที่ผู้ฟังจะขำ กลับนิ่งเงียบ และอึดอัดแทนก็ได้
๔. ตัวอย่างขำขัน ถ้าสามารถทำได้
ลองพยายามหาตัวอย่างมาอธิบายสนับสนุนเรื่องของตนเป็นตอน ๆ
ตัวอย่างไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องจริงเสมอไป เรื่องตลกขำขันก็ได้
เมื่อเล่าจบลงก็พยายามขมวดให้เข้าเรื่องที่ดำเนินอยู่ แม้ไม่ตรงทีเดียวก็พอกล้อมแกล้มกลืน ผู้ฟังจะไม่ถือสาอะไร กลับชอบและจำได้แม่นยำเสียอีก
๕. ต้องขบจึงขัน จดจำตัวอย่างการใช้ถ้อยคำ สำนวนที่คม ๆ
ต้องขบจึงจะขัน
เอามาใช้หรือดัดแปลงให้เป็นของตนเอง
มีการหยุดเล็กน้อยให้ผู้ฟังได้คิดและหัวเราะก่อน แล้วค่อยโยงเข้าเรื่อง จะสนุกมาก
ตัวอย่างเช่น
นักเขียนนามปากกา “ฮิวเมอริสต์” กล่าวว่า
“เรื่องการดื่มสุราเดี๋ยวนี้ผมลดลงไปมาก
เมื่อก่อนนี้ผมดื่มสองเวลา
คือเวลาฝนตกกับฝนไม่ตก
เดี๋ยวนี้ผมดื่มเฉพาะเวลาที่ตื่นเท่านั้นเอง...”
๖. ความเชยของตนเอง ไม่มีอะไรที่ผู้ฟังรู้สึกสาสมใจ พอใจ เท่ากับผู้พูดได้เล่าถึงความเปิ่น ความเชย
ความห้าแต้ม
ที่เกิดขึ้นกับตนเองให้ผู้ฟังได้ฟัง
แทนที่จะเสียดสีคนอื่นหรือยกความเสียหายของคนอื่นมาเป็นตัวอย่าง ลองยกเรื่องแย่ ๆ
ของตัวเองขึ้นมาเป็นตัวอย่างบ้าง
คนฟังจะชอบใจมากทุกครั้ง
ข้อควรระวังในการพูดให้เกิดอารมณ์ขัน
การพูดให้เกิดอารมณ์ขัน ต้องสร้างสรรค์อย่างเหมาะสม
๑. อย่าบอกผู้ฟังด้วยประโยคทำนองนี้ “ต่อไปนี้เป็นเรื่องขำขัน...” “ผมอยากจะเล่าเรื่องตลกให้ฟัง...” “ผมมีเรื่องสนุก ๆ
จะเล่าให้ท่านฟัง...”
ฯลฯ การพูดทำนองนี้จะทำให้ผู้ฟังรู้ทันและหมดสนุก ปล่อยให้ผู้ฟังสนุกเอง
ถ้าไม่สนุกก็แล้วไป ถ้าสนุกได้ก็ดี
๒. อย่าตลกเองหัวเราะเอง พยายามอย่าหัวเราะก่อนผู้ฟังเป็นอันขาด
ไม่หัวเราะเลย แบบ “ตลกหน้าตาย” ได้ยิ่งวิเศษ
๓.
อย่าให้เรื่องตลกกลายเป็นสาระสำคัญของเรื่อง ให้เป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น สิ่งขบขันเป็นเพียงเครื่องปรุงอาหาร ไม่ใช่ตัวอาหาร ต้องยกเรื่องขบขันมาประกอบเนื้อเรื่อง มิใช่เรื่องทั้งเรื่องเป็นเรื่องขบขัน
๔. ระวังการล้อเลียนเสียดสี ประชดประชัน
บุคคลหรือสถาบันให้ดี
อย่าให้มากจนเกินขอบเขต
จะเป็นผลร้ายมากกว่าผลดี
๕. อย่าพูดเรื่องหยาบโลน หรือตลกสองแง่สองง่าม แม้จะเรียกเสียงฮาได้ แต่ก็เป็นการลดค่าตัวเองให้ต่ำลง
๖. ขนบธรรมเนียม
วัฒนธรรม ศาสนา และสิ่งที่คนทั่วไปเคารพสักการะ อย่านำมาล้อเลียน พูดเล่นเป็นอันขาด
๗. อารมณ์ขันที่ดี ต้องสุภาพ นิ่มนวลและแนบเนียน ไม่นอกลู่นอกทาง
ต้องการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม
สำหรับนักค้นคว้า สืบหาข้อมูลหลักฐาน ท่านสามารถศึกษาเพิ่มเติม
เพื่อให้ได้รายละเอียดที่สมบูรณ์ จากเอกสาร หนังสือ ต่อไปนี้
เดล คาร์เนกี้ ศิลปะการพูดที่มีประสิทธิภาพ
จัดพิมพ์โดย เดอะบอส์ส โทร. ๐-๒๓๗๗-๖๓๐๙
ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์
พูดได้ พูดเป็น
สำนักพิมพ์ ก้องหล้า กทม.
โทร. ๐-๒๓๙๓-๕๕๔
เพชรบูรณ์ โรจนธรรมกุล
พูดจาให้เข้าหู
โรงพิมพ์และทำปกเจริญผล กทม.
โทร. ๐-๒๒๘๑-๘๑๙๗
วิจิตรา แสงผลสิทธิ์และคณะ วาทะการสำหรับครู
พีระพัธนา กทม.
โทร. ๐-๒๔๖๕-๓๔๓๘
สวนิต ยมาภัย และถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์ หลักการพูดขั้นพื้นฐาน:สังเขปสาระสำคัญ
บริษัท ครีเอทิป
พับลิชชิ่ง จำกัด กทม. โทร. ๐-๒๕๑๓-๗๗๖๕,
๐-๒๕๑๑-๔๐๑๔
รู้แล้วไม่สามารถนำไปใช้ได้ มีค่าเท่ากับไม่รู้
ดังนั้น ความสำเร็จจึงอยู่ที่การลงมือกระทำ