ท่องเที่ยว บันเทิง สาระความรู้

คำประสม

ดาว์นโหลดไฟล์ word ปริ้นได้ทันที
http://www.mediafire.com/view/jv97x3bsl3b4f9j



คำประสม
                คำประสม คือ คำที่เกิดจากการนำคำมูลตั้งแต่ 2 คำขึ้นไป และมีความหมายต่างกันมาประสมกันเป็นคำใหม่คำมูลที่นำมาประสมกันอาจเป็นคำนาม สรรพนาม กริยา วิเศษณ์ และบุพบท
          นาม+นาม หัวใจ
          นาม+กริยา บ้านเช่า
          นาม+สรรพนาม เพื่อนฝูง
          นาม+วิเศษณ์ น้ำแข็ง
          นาม + บุพบท คนนอก
          วิเศษณ์+กริยา ดื้อดึง
          วิเศษณ์ +วิเศษณ์ หวานเย็น

หน้าที่ของคำประสม
                ๑. ทำหน้าที่เป็นนาม, สรรพนาม เช่น พ่อครัว พ่อบ้าน แม่พระ ลูกเสือ น้ำตก ช่างไม้ ชาวบ้าน เครื่องบิน
หัวใจ นักการเมือง หมอตำแย ของเหลว
                ๒. ทำหน้าที่เป็นกริยา เช่น เสียเปรียบ กินแรง กินนอกกินใน อ่อนใจ ดีใจ เล่นตัว วางตัว ออกหน้า หักหน้า ลองดี ไปดี
                ๓. ทำหน้าที่เป็นวิเศษณ์ เช่น กินขาด ใจร้าย ใจเพชร ใจร้อน หลายใจ คอแข็ง
                ๔. ใช้ในเชิงเปรียบเทียบ เช่น - ก้มหน้า หมายถึง จำทน แกะดำ หมายถึง คนที่ทำอะไรผิดจากผู้อื่นในกลุ่ม ถ่านไฟเก่า หมายถึง หญิงชายที่เลิกร้าง ไก่อ่อน หมายถึง ยังไม่ชำนาญ นกต่อ หมายถึง คนที่ติดต่อหรือชักจูงผู้อื่นให้หลงเชื่อ

การสร้างคำประสม
                ๑. สร้างจากคำไทยทุกคำ เช่น แม่น้ำ ที่ราบ ลูกช้าง หมดตัว กินที่ แม่ยาย
                ๒. สร้างจากคำไทยกับคำภาษาต่างประเทศ เช่น เผด็จการ นายตรวจ ของโปรด
                ๓. สร้างจากคำภาษาต่างประเทศทั้งหมด เช่น รถเมล์ รถบัส รถเก๋ง กิจจะลักษณะ
                ๔. สร้างคำเลียนแบบคำสมาส แต่ปนกับคำไทย เช่น ผลไม้ คุณค่า พระอู่ เทพเจ้า พระที่นั่ง ทุนทรัพย์ 



ข้อสังเกตของคำประสม
                ๑. คำประสมอาจเกิดจากคำต่างชนิดรวมกัน เช่น กินใจ (คำกริยา+คำนาม) นอกเรื่อง (คำบุพบท+คำนาม)
                ๒. คำประสมเกิดจากคำหลายภาษารวมกัน เช่นรถเก๋ง (บาลี+จีน) เครื่องอิเล็กโทน (ไทย+อังกฤษ)
                ๓. คำที่ขึ้นต้นด้วย ผู้ นัก เครื่อง ช่าง หมอ ของ เป็นคำประสม เช่น ผู้ดี, นักเรียน, ชาวนา, เครื่องยนต์

ลักษณะของคำประสม
                ๑. คำประสมที่นำคำมูลที่มีเนื้อความต่างๆ มาประสมกัน แล้วได้ใจความเป็นอีกอย่างหนึ่ง เช่นหางหมายถึง ส่วนท้ายของสัตว์ กับ เสือหมายถึง สัตว์ชนิดหนึ่ง รวมกันเป็นคำประสมว่า หางเสือแปลว่า เครื่องถือท้ายเรือ และคำอื่นๆ เช่น ลูกน้ำ แม่น้ำ แสงอาทิตย์ (งู) เป็นต้น คำเหล่านี้มีความหมายต่างกับคำมูลเดิมทั้งนั้น คำประสมพวกนี้ถึงแม้ว่ามีใจความแปลกออกไปจากคำมูลเดิมก็ดี แต่ก็ต้องอาศัยเค้าความหมายของคำมูลเดิมเป็นหลักเหมือนกัน ถ้าเป็นคำที่ไม่มีเค้าความเนื่องจากคำมูลเลย แต่เผอิญมาแยกออกเป็นคำมูลได้นับว่าเป็นคำประสมจะนับเป็นคำมูล
                ๒. คำประสมที่เอาคำมูลหลายคำซึ่งทุกๆ คำก็มีเนื้อความคงที่ แต่เมื่อเอามารวมกันเข้าเป็นคำเดียวก็มีเนื้อความผิดจากรูปเดิมไป ซึ่งถ้าแยกออกเป็นคำๆ แล้วจะไม่ได้ความดังที่ประสมกันอยู่นั้นเลย
                ๓. คำประสมที่เอาคำมูลมีรูปหรือเนื้อความซ้ำกันมารวมกันเป็นคำเดียว คำเหล่านี้บางทีก็มีเนื้อความคล้ายกับคำมูลเดิม บางทีก็เพี้ยนออกไปบ้างเล็กน้อย และอีกอย่างหนึ่งใช้คำมูลรูปไม่เหมือนกัน แต่เนื้อความอย่างเดียวกันรวมกันเข้าเป็นคำประสมซึ่งมีความหมายต่างออกไปโดยมาก
                ๔. คำประสมที่ย่อออกมาจากใจความมาก คำพวกนี้มีลักษณะคล้ายกับคำสมาสเพราะเป็นคำย่ออย่างเดียวกันรวมทั้งคำอาการนามที่มีคำว่าการหรือความนำหน้า
                ๕. คำประสมที่มาจากคำสมาสของภาษาบาลีและสันสกฤต เช่น ราชกุมาร (ลูกหลวง)
ข้อสังเกต มีคำหลายคำรวมกันเข้าเป็นกลุ่มหนึ่งๆ แต่ไม่ใช่คำประสมเพราะคำเหล่านี้ต่างก็ประกอบกันได้ความตามรูปเดิม
                วิธีสร้างคำประสม คือ นำคำตั้งแต่สองคำขึ้นไป และเป็นคำที่มีความหมายต่างกันมาประสมกันเป็นคำใหม่โดยใช้คำที่มีลักษณะเด่นเป็นคำหลักหรือเป็นฐาน แล้วใช้คำที่มีลักษณะรองมาขยายไว้ข้างหลัง คำที่เกิดขึ้นใหม่มีความหมายใหม่ตามเค้าของคำเดิม (พวกความหมายตรง) แต่บางทีใช้คำที่มี น้ำหนักความหมายเท่า ๆ กันมาประสมกัน ทำให้เกิดความพิสดารขึ้น (พวกความหมายอุปมาอุปไมย) เช่น
          1. พวกความหมายตรง และอุปมา (น้ำหนักคำไม่เท่ากัน)
                    นาม + นาม เช่น โรงรถ เรืออวน ขันหมาก ข้าวหมาก น้ำปลา สวนสัตว์
นาม + กริยา เช่น รือแจว บ้านพัก คานหาม กล้วยปิ้ง ยาถ่าย ไข่ทอด
                    นาม + วิเศษณ์ เช่น น้ำหวาน แกงจืด ยาดำ ใจแคบ ปลาเค็ม หมูหวาน
                    กริยา + กริยา เช่น พัดโบก บุกเบิก เรียงพิมพ์ ห่อหมก รวบรวม ร้อยกรอง
                    นาม + บุพบท หรือ สันธาน เช่น วงใน ชั้นบน ของกลาง ละครนอก หัวต่อ เบี้ยล่าง
                    นาม + ลักษณะนาม หรือ สรรพนาม เช่น ลำไพ่ ต้นหน คุณนาย ดวงตา เพื่อนฝูง ลูกเธอ
                    วิเศษณ์ + วิเศษณ์ เช่น หวานเย็น เปรี้ยวหวาน เขียวหวาน
                ใช้คำภาษาต่างประเทศประสมกับคำไทย เช่น เหยือกน้ำ เหยือก เป็นคำภาษาอังกฤษ โคถึก ถึก เป็นคำภาษาพม่า แปลว่า หนุ่ม นาปรัง ปรัง เป็นคำภาษาเขมรแปลว่า ฤดูแล้ง เก๋งจีน จีน เป็นภาษาจีน พวงหรีด หรีด เป็นคำภาษาอังกฤษ
          2. พวกความหมายอุปมาอุปไมย
คำประสมพวกนี้มักมีความหมายเป็นสำนวน และมักนำคำอื่นมาประกอบด้วย เช่น หน้าตา ประกอบเป็น หน้าเฉย ตาเฉย นับหน้าถือตา เชิดหน้าชูตา
บางคำประสมกันแล้วหาคำอื่นมาประกอบให้สัมผัสคล้องจองตามวิธีของคนเจ้าบทเจ้ากลอนเพื่อให้ได้คำใหม่เป็นสำนวน เช่น กอดจูบลูบคลำ คู่ผัวตัวเมีย จับมือถือแขนเย็บปักถักร้อย หน้าใหญ่ใจโต ลูกเล็กเด็กแดง
                ให้สังเกตว่าที่ยกมานี้คล้ายวลี ทุกคำในกลุ่มนี้มีความหมายแต่พูดให้คล้องจองกันจนเป็นสำนวนติดปาก แต่มีบางคำดังตัวอย่างต่อไปนี้ ที่บางตัวไม่มีความหมายเพียงแต่เสริมเข้าให้คล้องจองเท่านั้น เช่น กำเริบเสิบสาน โกหกพกลม ขี้ปดมดเท็จ รู้จักมักจี่ หลายปีดีดัก ติดสอยห้อยตาม
บางทีซ้ำเสียงตัวหน้าแล้วตามด้วยคำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน ทำให้เป็นกลุ่มคำที่เป็นสำนวนขึ้น เช่น ตามมีตามเกิด ตามบุญตามกรรม ขายหน้าขายตา ติดอกติดใจ กินเลือดกินเนื้อ ฝากเนื้อฝากตัว










คำซ้อน
                คำซ้อน หมายถึง การสร้างคำอีกรูปแบบหนึ่ง มีวิธีการเช่นเดียวกับการประสมคำ จึงอนุโลมให้เป็นคำประสมได้ ความแตกต่างระหว่างคำประสมทั่วไปกับคำซ้อน คือ คำซ้อนจะสร้างคำโดยนำคำที่มีความหมายคู่กันหรือใกล้เคียงกันมาซ้อนกัน คำที่มาซ้อนกันจะทำหน้าที่ขยายและไขความซึ่งกันและกันและทำให้เสียงกลมกลืนกันด้วย เช่น
          คำซ้อนที่มีเสียงพยัญชนะเดียวกัน ได้แก่ วนเวียน ชุกชุม ร่อแร่ ฯลฯ
          คำซ้อนที่ใช้เสียงตรงข้าม ได้แก่ หนักเบา เป็นตาย มากน้อย ฯลฯ
          คำซ้อนที่ใช้คำความหมายเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ได้แก่ บ้านเรือน อ้วนพี มากมาย ฯลฯ
          คำซ้อน 4 คำ ที่มีคำที่ 1 และคำที่ 3 เป็นคำ ๆ เดียวกัน ได้แก่ ผู้หลักผู้ใหญ่ ร้อนอกร้อนใจ เข้าได้เข้าไป ฯลฯ
          คำซ้อนที่เป็นกลุ่มคำมีเสียงสัมผัส ได้แก่ เก็บหอมรอมริบ ข้าวยากหมากแพง รู้จักมักคุ้นฯลฯ
ความมุ่งหมายของการสร้างคำซ้อน
เพื่อเน้นความให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยความหมายยังคงเดิม เช่น ใหม่เอี่ยม ละเอียดลออ เสื่อสาด
ทำให้เกิดความหมายใหม่ในเชิงอุปมาอุปไมย เช่น ตัดสิน เบิกบาน เกี่ยวข้อง

การซ้อนคำ
เป็นการนำคำที่มีความหมายเหมือนกัน หรือคล้ายกัน หรือประเภทเดียวกันมาเรียงซ้อนกัน เมื่อซ้อนคำแล้วทำให้เกิดความหมายใหม่ขึ้น แต่ยังคงเค้าความหมายเดิมอยู่ หรือความหมายอาจไม่เปลี่ยนไป แต่ความหมายของคำหน้าจะชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น บ้านเรือน ทรัพย์สิน คับแคบ เป็นต้น คำที่เกิดจากการซ้อนคำเช่นนี้เรียกว่าซ้อนคำ

          คำที่ประกอบขึ้นด้วยคำ 2 คำขึ้นไปที่มีความหมายทำนองเดียวกัน เช่น จิตใจ ถ้วยชาม ข้าทาส ขับไล่ ขับกล่อม ค่างวด ฆ่าแกง หยูกยา เยียวยา แก่นสาร ทอดทิ้ง ท้วงติง แก้ไข ราบเรียบ เหนื่อยหน่าย ทำมาค้าขาย ชั่วนาตาปี
          คำที่ประกอบขึ้นด้วยคำ 2 คำขึ้นไปที่มีความหมายตรงกันข้าม เช่น หอมเหม็น ถูกแพง หนักเบา ยากง่าย มีจน ถูกผิด ชั่วดีมีจน หน้าไหว้หลังหลอก
          คำซ้อนที่ประกอบด้วยคำ 2 คำขึ้นไปที่ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะเสียงเดียวกันหรือมีเสียงสระเข้าคู่กัน เช่น เกะกะ
เปะปะ รุ่งริ่ง โยกเยก กรอบแกรบ กรีดกราด ฟืดฟาด มากมายก่ายกอง อีลุ่ยฉุยแฉก

หรืออาจจำแนกออกได้เป็น 2 ชนิดตามหน้าที่ ได้แก่
          คำซ้อนเพื่อเสียง
          คำซ้อนเพื่อความหมาย
คำซ้อนเพื่อเสียง เป็นการนำคำที่มีความหมายคล้ายคลึงกันมาซ้อนกัน เพื่อให้ออกเสียงง่ายขึ้น และมีเสียงคล้องจองกัน ทำให้เกิดความไพเราะขึ้น คำซ้อนเพื่อเสียงนี้บางทีเรียกว่าคำคู่ หรือคำควบคู่
          นำคำที่มีพยัญชนะต้นเดียวกัน แต่แตกต่างกันที่เสียงสระ นำมาซ้อนหรือควบคู่กัน เช่น
เร่อร่า เซ่อซ่า อ้อแอ้ จู้จี้
เงอะงะ จอแจ ร่อแร่ ชิงช้า
จริงจัง ทึกทัก หมองหมาง ตึงตัง
          นำคำแรกที่มีความหมายมาซ้อนกับคำหลัง ซึ่งไม่มีความหมาย เพื่อให้คล้องจองและออกเสียงได้สะดวก โดยเสริมคำข้างหน้าหรือข้างหลังก็ได้ ทำให้เน้นความเน้นเสียงได้หนักแน่น โดยมากใช้ในคำพูด เช่น
กวาดแกวด กินแกน เดินแดน
มองเมิง ดีเด่ ไปเปย
          นำคำที่มีพยัญชนะต้นต่างกันแต่เสียงสระเดียวมาซ้อนกันหรือควบคู่กัน เช่น
เบ้อเร่อ แร้นแค้น จิ้มลิ้ม
ออมชอม อ้างว้าง เรื่อยเจื้อย ราบคาบ
          นำคำที่มีพยัญชนะต้นเหมือนกัน สระเสียงเดียวกัน แต่ตัวสะกดต่างกันมาซ้อนกัน หรือควบคู่กัน เช่น
ลักลั่น อัดอั้น หย็อกหย็อย
          คำซ้อนบางคำ ใช้คำที่มีความหมายใกล้เคียงมาซ้อนกันและเพิ่มพยางค์เพื่อให้ออกเสียงสมดุลกัน เช่น
ขโมยโจร เป็น ขโมยขโจร
สะกิดเกา เป็น สะกิดสะเกา
จมูกปาก เป็น จมูกจปาก
          คำซ้อนบางคำอาจจะเป็นคำซ้อนที่เป็นคำคู่ ซึ่งมี 4 คำ และมีสัมผัสคู่กลางหรือคำที่ 1 และคำที่ 3 ซ้ำกัน คำซ้อนในลักษณะนี้เป็นสำนวนไทย ความหมายของคำจะปรากฏที่คำหน้าหรือคำท้าย หรือปรากฏที่คำข้างหน้า 2 คำ ส่วนคำท้าย 2  ตัว ไม่ปรากฏความหมาย เช่น เกะกะระราน กระโดดโลดเต้น บ้านช่องห้องหอ เรือแพนาวา ข้าเก่าเต่าเลี้ยง กตัญญูรู้คุณ ผลหมากรากไม้ โกหกพกลม ติดอกติดใจ

คำซ้อนเพื่อความหมาย เกิดจากคำมูลที่มีความหมายอย่างเดียวกัน ต่างกันเล็กน้อยหรือไปในทำนองเดียวกัน หรือต่างกันในลักษณะตรงข้าม เมื่อประกอบเป็นคำซ้อนจะมีความหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
          1. ความหมายอยู่ที่คำใดคำหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง คำอื่นหรือกลุ่มอื่นไม่ปรากฏความหมาย เช่น หน้าตา ปากคอ เท็จจริง ดีร้าย ผิดชอบ ขวัญหนีดีฝ่อ ถ้วยชามรามไห
จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน
          2. ความหมายอยู่ที่ทุกคำแต่เป็นความหมายที่กว้างออกไป เช่น
เสื้อผ้า ไม่ได้หมายเฉพาะเสื้อกับผ้า แต่รวมถึงเครื่องนุ่งห่ม
เรือแพ ไม่ได้หมายเฉพาะเรือกับแพ แต่รวมถึงยานพาหนะทางน้ำทั้งหมด
ข้าวปลา ไม่ได้หมายเฉพาะข้าวกับปลา แต่รวมถึงอาหารทั่วไป
พี่น้อง ไม่ได้หมายเฉพาะพี่กับน้อง แต่รวมถึงญาติทั้งหมด
หมูเห็ดเป็ดไก่ หมายรวมถึงสิ่งที่ใช้เป็นอาหารทั้งหมด
          3. ความหมายอยู่ที่คำต้นกับคำท้ายรวมกัน เช่น เคราะห์หามยามร้าย ( เคราะห์ร้าย ) ชอบมาพากล (ชอบกล) ฤกษ์งามยามดี (ฤกษ์ดี) ยากดีมีจน (ยากจน)
          4. ความหมายอยู่ที่คำต้นหรือคำท้าย ซึ่งมีความหมายตรงข้ามกัน เช่น ชั่ว ดี (ชั่วดีอย่างไรเขาก็เป็นเพื่อนฉัน) ผิดชอบ (ความรับผิดชอบ) เท็จจริง (ข้อเท็จจริง)
















คำซ้ำ
                คำซ้ำ เป็นการซ้ำคำมูลเดิม ความหมายของคำซ้ำอาจเหมือนคำมูลเดิม หรืออาจมีน้ำหนักมากขึ้นหรือเบาลง หรือแสดงความเป็นพหูพจน์ เช่น เขียว ๆ แดง ๆ ไกล ๆ มาก ๆ น้อย ๆ ช้า ๆ เร็ว ๆ ดัง ๆ ถี่ ๆ ห่าง ๆ จริง ๆ เพื่อน ๆ หลาน ๆ ฯลฯ
          คำซ้ำในคำซ้อน เป็นการนำคำซ้อนมาแยกแล้วซ้ำคำมูลแต่ละคำ คำซ้ำในคำซ้อนอาจมีความหมายเท่าคำซ้อนเดิม หรือมีความหมายหนักขึ้น หรือเบาลง หรือแสดงความเป็นพหูพจน์ หรือมีความหมายเปลี่ยนไปจากเดิมมาก
          คำซ้ำ คือ การนำคำมูลมากล่าวซ้ำ 2 ครั้ง เมื่อเขียนนิยมใช้ไม้ยมกแทนคำหลัง

ตัวอย่างคำซ้ำในคำซ้อน
          ผัว ๆ เมีย ๆ (ความหมายเท่าผัวเมีย)
          สวย ๆ งาม ๆ (ความหมายเท่าสวยงาม)
          ดึก ๆ ดื่น ๆ (ความหมายหนักกว่าดึกดื่น)
          ด้อม ๆ มอง ๆ (ความหมายเบาลงกว่าด้อมมอง)
          ลูก ๆ หลาน ๆ (ความหมายแสดงจำนวนมากกว่าลูกหลาน)
รูปลักษณ์ของคำซ้ำ
          เขียนเหมือน
          อ่านเหมือน
          ความหมายเหมือน
          เป็นคำชนิดเดียวกัน
          ทำหน้าที่เดียวกัน
          อยู่ในประโยคเดียวกัน
ตัวอย่างประโยคที่มีรูปลักษณ์ของคำซ้ำ
          ฉันมีเพื่อน ๆ เป็นคนต่างจังหวัด
          ลูก ๆ ของพระยาพิชัยรับราชการทุกคน
          ฉันเห็นเธอพูด ๆ ๆ อยู่นั่นแหละ
          พวกเราเข้าไปนั่ง ๆ ฟังเสียหน่อย เกรงใจเจ้าภาพ
          ฉันไม่ได้ตั้งใจดูเขาหรอก แต่รู้สึกว่าเขามีผิวสีดำ ๆ
          วิเคราะห์
คำว่า เพื่อน ๆ เป็นคำซ้ำ เพราะเขียนเหมือนกัน อ่านเหมือนกัน ความหมายเหมือนกัน ซึ่งเป็นคำนาม ทำหน้าที่เป็นกรรมของประโยคและอยู่ในประโยคเดียวกัน จึงเรียกว่า คำซ้ำ
คำว่า ลูก ๆ เป็นคำซ้ำ เพราะเขียนเหมือนกัน อ่านเหมือนกัน ความหมายเหมือนกัน ซึ่งเป็นคำนามเหมือนกัน ทำหน้าที่เป็นประธานของประโยค และอยู่ในประโยคเดียวกัน จึงเรียกว่า คำซ้ำ
คำว่า พูด ๆ เป็นคำซ้ำ เพราะเขียนเหมือนกัน อ่านเหมือนกัน ความหมายเหมือนกัน ซึ่งเป็นคำกริยาเหมือนกัน ทำหน้าที่เป็นกริยาของประโยคย่อย และอยู่ในประโยคเดียวกัน จึงเรียกว่า คำซ้ำ
คำว่า นั่ง ๆ เป็นคำซ้ำ เพราะเขียนเหมือนกัน อ่านเหมือนกัน ความหมายเหมือนกัน ซึ่งเป็นคำกริยาเหมือนกัน ทำหน้าที่เป็นกริยาแท้ของประโยค และอยู่ในประโยคเดียวกัน จึงเรียกว่า คำซ้ำ
คำว่า ดำ ๆ เป็นคำซ้ำ เพราะเขียนเหมือนกัน อ่านเหมือนกัน ความหมายเหมือนกัน ซึ่งเป็นคำวิเศษณ์เหมือนกัน ทำหน้าที่เป็นวิเศษณ์ของประโยค และขยายคำนาม และอยู่ในประโยคเดียวกัน จึงเรียกว่า คำซ้ำ

วิธีการซ้ำคำ
นำคำนาม คำสรรพนาม คำกริยา หรือคำวิเศษณ์มากล่าวซ้ำ เช่น เด็ก ๆ เรา ๆ กิน ๆ
นำคำที่ซ้ำกัน 2 คำมาซ้อนกัน แต่คำคู่นั้นจะต้องมีความหมายใกล้เคียงกัน เช่น สวย ๆ งาม ๆ เรา ๆ ท่าน ๆ เป็น ๆ หาย ๆ นำคำซ้ำกัน โดยเปลี่ยนเสียงวรรณยุกต์ เพื่อเน้นความหมาย เช่น ซ้วยสวย ดี๊ดี เจ็บใจ๊เจ็บใจ ดีใจ๊ดีใจ

ความหมายของคำซ้ำ
การซ้ำคำทำให้เกิดความหมายแตกต่างกันไปในลักษณะต่าง ๆ กัน ดังนี้
          ซ้ำคำทำให้เป็นพหูพจน์ แสดงถึงจำนวนมากกว่าหนึ่ง เช่น
เด็ก ๆ ไปโรงเรียน (หมายถึงเด็กหลายคน)
ใคร ๆ ก็มาทั้งนั้น (หมายถึงคนหลายคน)
          ซ้ำคำเพื่อแสดงการแยกจำนวน เช่น
ทำให้เสร็จเป็นอย่าง ๆ ไป (หมายถึงทีละอย่าง)
ครูตรวจการบ้านนักเรียนเป็นคน ๆ (หมายถึงทีละคน)
          ซ้ำคำเพื่อแสดงความหมายเป็นกลาง ๆ เช่น
ผ้าดี ๆ อย่างนี้หาซื้อไม่ได้
ฉันไม่ซื้อปลาเป็น ๆ มาทำกับข้าว
แต่ถ้าต้องการเน้นน้ำหนักให้เปลี่ยนเสียงวรรณยุกต์ ในกรณีเป็นภาษาพูด เช่น
เสื้อตัวนี้ซ้วยสวย ไปทำอะไรมาตัวด๊ำดำ
          ซ้ำคำเพื่อแสดงความหมายโดยประมาณหรือไม่เจาะจง เช่น
เธอมาหาฉันแต่เช้า ๆ หน่อย (ไม่เจาะจงเวลา)
เขาเดินอยู่แถว ๆ บางเขน (ไม่เจาะจงว่าสถานที่ใด)
เขาทำอะไรผิด ๆ อยู่เสมอ (ไม่เจาะจงว่าผิดอะไร)
          ซ้ำคำเพื่อให้เป็นคำสั่ง มักเน้นคำขยายหรือบุพบท เช่น
ทำดี ๆ นะ (ซ้ำคำขยาย)
เดินเร็ว ๆ (ซ้ำคำขยาย)
นั่งใน ๆ (ซ้ำคำบุพบท)
          ซ้ำคำเพื่อแสดงกิริยาว่าทำติดต่อกันไปเรื่อย ๆ และจะเน้นคำที่กริยา
เขาพูด ๆ อยู่ก็เป็นลม
เขายืน ๆ อยู่ก็ถูกจับ
          ซ้ำคำเพื่อแสดงลักษณะส่วนใหญ่ในกลุ่มหรือในหมู่คณะ เช่น
มีแต่ของเก่า ๆ กินแต่ของดี ๆ มีแต่คนเลว ๆ
          ซ้ำคำเพื่อแสดงอาการหรือเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกัน เช่น
ฝนตกปรอย ๆ
เด็กวิ่งตั๊ก ๆ
ปลาดิ้นพราด ๆ
          ซ้ำคำเลียนเสียงธรรมชาติ ได้แก่
เสียงสัตว์ร้อง เช่น เหมียว ๆ โฮ่ง ๆ กุ๊ก ๆ
เสียงเด็กร้องได้ เช่น อุแว้ ๆ แง ๆ
เสียงธรรมชาติ เช่น โครม ๆ ซู่ ๆ เปรี้ยง ๆ
          ซ้ำคำทำให้เกิดความหมายใหม่ เช่น
เดี๋ยว ๆ เขาก็มองออกไปทางประตู
อยู่ ๆ ก็ลุกขึ้นกระโดด (ไม่มีสาเหตุ)
ของพื้น ๆ อย่างนี้ใครก็ทำได้ (ของธรรมดา)
เรื่องผี ๆ ไม่น่าฟัง (ไม่ดี)
ทำอะไรลวก ๆ (หยาบ)
ความมุ่งหมายในการสร้างคำซ้ำ
          ซ้ำเพื่อเน้นความหมายเดิมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น คำซ้ำประเภทนี้มักจะเป็นคำวิเศษณ์ เช่น ดัง ๆ วุ่น ๆ ค่อย ๆ
          ซ้ำเพื่อบอกความหมายของเวลาหรือสถานที่โดยประมาณ เช่น ใกล้ ๆ ข้าง ๆ ดึก ๆ เช้า ๆ
ซ้ำเพื่อบอกความหมายเป็นเอกพจน์ ซึ่งคำซ้ำชนิดนี้มักสร้างจากคำลักษณะนาม เช่น เรื่อ ๆ ส่วน ๆ ชิ้น ๆ
          ซ้ำเพื่อบอกความหมายเป็นพหูพจน์ เช่น เพื่อน ๆ เด็ก ๆ
          ซ้ำเพื่อบอกความหมายกว้างออกไป เช่น นั่ง ๆ นอน ๆ
คำที่มาจากภาษาอื่น
                ในภาษาไทยมีการขอยืมคำจากภาษาอื่นๆ มากมาย เช่น ภาษาบาลี ภาษาสัมนสกฤต ภาษาเขมร เป็นต้น คำที่มาจากภาษาอื่นเหล่านี้ จะมีหลักในการสังเกตแตกต่างกัน ทำให้เราสามารถทราบได้ว่าคำเหล่านี้มาจากภาษาใด
๑. คำที่มาจากภาษาบาลี
ตัวอย่างคำ พุทธ ปัญญา มัจฉา บุปผา อัคคี จุฬา หทัย ทุกข์ บาป ราโชวาท มุทิตา ดาบส ชาตะ คฤหัสถ์
ข้อสังเกต  ๑)  ทั้งตัวสะกดตรงตามมาตรา และไม่ตรงตามมาตรา
                 ๒)  มีอักษรการันต์
                 ๓)  ไม่มีวรรณยุกต์ และไม่ใช้ไม้ไต่คู้
                 ๔)  มักประสมด้วยพยัญชนะ ฆ ฌ ญ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ธ ภ ฤ ศ ษ
๒.  คำที่มาจากภาษาสันสกฤต
ตัวอย่างคำ เกษตร สตรี กรีฑา ครุฑ ปรัชญา ธรรม ภรรยา ราตรี ฤดี ฤทัย ราเชนทร์ กัลบก ไพศาล บาป
ข้อสังเกต  ๑)  ทั้งตัวสะกดตรงตามมาตรา และไม่ตรงตามมาตรา
                 ๒)  มีอักษรการันต์
                 ๓)  ไม่มีวรรณยุกต์ และไม่ใช้ไม้ไต่คู้
                 ๔)  มักประสมด้วยพยัญชนะ ฆ ฌ ญ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ธ ภ ฤ ศ ษ
๓.  มาจากภาษาเขมร
ตัวอย่างคำ   ฉกาจ เข็ญ จำเนียร กังวล เพ็ญ เสด็จ เจริญ ขจร ทูล
ข้อสังเกต       สะกดด้วย จ ญ ร ล
ตัวอย่างคำ   ขลัง โขน ฉลอง เสวย เขนย เฉลย
ข้อสังเกต       มักใช้คำควบกล้ำและคำที่ใช้อักษรนำ
ตัวอย่างคำ   กำจร ตำรวจ กำเนิด ดำริ บังคม จำเริญ ชำนรร
ข้อสังเกต       คำ ๒ พยางค์ มักขึ้นต้นด้วยคำว่า กำ จำ ชำ ดำ ตำ ทำ บัง
๔.  มาจากภาษาชวา
ตัวอย่างคำ กริช (มีดปลายแหลมมี ๒ คน), กิดาหยัน (มหาดเล็ก), บุหงา (ดอกไม้), ปั้นเหน่ง (เข็มขัด), มะงุมมะงาหรา (เที่ยวป่า)
ข้อสังเกต มักจะเป็นคำที่มีเสียงจัตวา
๕. คำที่มาจากภาษาจีน
ไทยกับจีนมีความสัมพันธ์กันมาเเต่โบราณกาล ในสมัยสุโขทัยได้มีการทำสัญญาทางไมตรีกันระหว่างไทยกับจีน ภาษาไทย และภาษาจีนจัดอยู่ในตระกูลภาษาคำโดด ทั้งสองภาษามีเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ เหมือนเสียงดนตรี จึงได้ชื่อว่าเป็นภาษาดนตรี
คำที่มาจากภาษาจีน มีลักษณะ ดังนี้
      -  มักเป็นคำพยางค์เดียว
      -  มีรูปวรรณยุกต์เเละเสียงวรรณยุกต์ เพื่อให้เกิดความหมาย
ตัวอย่าง คำที่มาจากภาษาจีน
คำนาม
      ก๊ก (หมู่เหล่า)      ก๋ง (ปู่)       ขิม (เครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง)       เซียน (ผู้วิเศษ)
      ตังเก (เรือ)       โสหุ้ย (ค่าใช้จ่าย)       ซ้อ (สะใภ้)       อั้งโล่ (เตา)       ฮ่องเต้ (กษัตริย์)
คำกริยา
      เก๊ก (วางท่า)      เขียม (ประหยัด)      เจ๊า (เลิกกันไป)      แฉ (เปิดเผยให้รู้)      ทู่ซี้ (ทนทำต่อไป)   
      เซ็งลี้ (ขายต่อ)      แฉ (เปิดเผยให้รู้)      เซ๊ง (ขาย)      ตื้อ (พยายาม)      ตุน (เก็บไว้)      ตุ๋น (ทำอาหารให้เปื่อย)
ตัวอย่าง ประโยคที่ใช้คำที่มาจากภาษาจีน
      กง ชอบฟังหลานตี ขิม เวลานั่งดื่มน้ำ เก๊กฮวย
      เธอเป็นคน เขียม จึงไม่ชอบจัดงานเลี้ยงที่ต้องจ่ายค่า โสหุ้ย มาก
      ทินกรถูกเพื่อน ตื้อ ให้ไปเที่ยวทะเลด้วยกัน
      คนที่ เก๊ก มาก ๆ มักจะไม่มีเพื่อน
     อาเเป๊ะ เซ้ง ตึก ๓ ชั้น แถวรัชดา เดือนที่เเล้ว
     เราต้องเตรียม ตุน เสบียงไว้เผื่อหิวเวลาเดินาทง
     เเม่ทำ ก๋วยเตี๋ยว หมู ตุ๋น รสเด็ด


ที่มา
http://www.trueplookpanya.com/true/knowledge_detail.php?mul_content_id=2438
http://www.thaigoodview.com/library/contest2551/thai04/34/workgroup/p19.htm
http://www.thaigoodview.com/library/contest2551/thai04/34/workgroup/p20.htm
http://www.thaigoodview.com/library/contest2551/thai04/34/workgroup/p18.htm