มานีมีสาระ

ท่องเที่ยว บันเทิง สาระความรู้

การปกครองระบอบประชาธิปไตย



การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
          สังคมทุกสังคมจะเจริญก้าวหน้าเป็นปึกแผ่นได้ ย่อมต้องมีระเบียบวินัยและผู้นำของสังคมเป็นหลักในการปกครอง ผู้นำของสังคมระดับประเทศโดยเฉพาะระบอบประชาธิปไตยส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของประธานาธิบดีหรือพระมหากษัตริย์ สำหรับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่การใช้พระราชอำนาจด้านนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ทรงมิได้ใช้พระราชอำนาจเหล่านั้นด้วยพระองค์เอง แต่มีองค์การหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบต่าง ๆ กันไป พระราชอำนาจทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นฐานะประมุขของรัฐ หรือในฐานะอื่น ได้ถูกกำหนดไว้โดยชัดแจ้งในรัฐธรรมนูญ

รูปแบบของรัฐ (Forms of State)
                1.  รัฐเดี่ยว (Unitary State) คือ รัฐที่มีรัฐบาลกลางเป็นผู้มีอำนาจปกครอง และอำนาจบริหารสูงสุดเพียงองค์กรเดียว รัฐบาลกลางเป็นผู้ที่ใช้อำนาจอธิปไตยทั้ง  3  อำนาจคือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ รัฐบาลเป็นองค์กรกลางองค์กรเดียวของรัฐที่ปกครองประชาชนได้โดยตลอด   รวมถึงการติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศด้วย   ตัวอย่างรัฐเดี่ยว  ได้แก่  อังกฤษ  ญี่ปุ่น และไทย เป็นต้น
                2.  รัฐรวม (Composit State) ได้แก่ การรวมตัวกันของรัฐ ตั้งแต่ 2 รัฐขึ้นไปโดยมีรัฐบาลเดียวกันซึ่งแต่ละรัฐยังคงมีสภาพเป็นรัฐอยู่เช่นเดิมแต่การใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐที่มารวมกันอาจถูกจำกัดลงไปตามข้อตกลงที่ทำขึ้น
รัฐรวมมีอยู่ 2 ประเภทด้วยกันคือ
                1)สหพันธรัฐ (Federal State) สหพันธรัฐ คือ รัฐที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันระหว่างรัฐต่าง ๆ ตั้งแต่ 2 รัฐขึ้นไปโดยใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับเดียวกันร่วมกันและความสัมพันธ์ระหว่างรัฐเหล่านั้นเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนั้น ๆ รูปแบบการปกครองแบ่งออกเป็น 2 ระดับคือ มีรัฐบาลกลางของสหพันธรัฐและรัฐบาลท้องถิ่นเป็นของแต่ละรัฐซึ่งเรียกกันว่า มลรัฐตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา อินเดีย มาเลเซีย
                2)สมาพันธรัฐ (Confederation State) สมาพันธรัฐเป็นการรวมตัวกัน ระหว่าง 2 รัฐขึ้นไป โดยไม่มีรัฐธรรมนูญ หรือรัฐบาลร่วมกัน แต่เป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆเพื่อจุดมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการ ชั่วคราวและเป็นบางกรณีเท่านั้น เช่นการเป็นพันธมิตรกันเพื่อทำสงครามร่วมกัน เป็นต้น ในปัจจุบันนี้รูปแบบของรัฐแบบสมาพันธรัฐไม่มีอีกแล้ว แต่จะกลายเป็นลักษณะของการรวมตัวกันในรูปขององค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การนาโต้ องค์การอาเซียน เป็นต้น





สาระการเรียนรู้
          1. ประมุขของรัฐ
          2. อำนาจอธิปไตย
               - ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ
          3. พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

ประมุขของรัฐ
          รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับกำหนดรูปแบบการปกครองและประมุขแห่งรัฐไว้ว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการเทิดทูนพระมหากษัตริย์ คือ ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และรัฐธรรมนูญยังกำหนดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ โดยให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของประชาชน โดยใช้อำนาจนิติบัญญัติผ่านทางรัฐสภา อำนาจบริหารผ่านทางคณะรัฐมนตรี และอำนาจตุลาการผ่านทางศาล การกำหนดเช่นนี้หมายความว่าอำนาจต่าง ๆ จะใช้ในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ ซึ่งในความเป็นจริงอำนาจเหล่านี้มีองค์กรเป็นผู้ใช้ ฉะนั้นการที่บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการผ่านทางองค์กรต่าง ๆ นั้น จึงเป็นการเทิดพระเกียรติ แต่อำนาจที่แท้จริงอยู่ที่องค์กรที่เป็นผู้พิจารณานำขึ้นทูลเกล้าถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลง
พระปรมาภิไธย
          พระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญของไทยแม้จะได้รับการเชิดชูให้อยู่เหนือการเมืองและกำหนดให้มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการในการปฏิบัติทางการปกครองทุกอย่าง แต่พระมหากษัตริย์ก็ทรงมีอำนาจบางประการที่ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ และ
เป็นพระราชอำนาจที่ทรงใช้ได้ตามพระราชอัธยาศัยจริง ๆ ได้แก่ การแต่งตั้งคณะองคมนตรี การแต่งตั้งข้าราชการในพระองค์ และ
สมุหราชองครักษ์ การแก้ไขเพิ่มเติมกฏมณเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ การพระราชทางเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เป็นต้น
          พระราชอำนาจที่ส่งผลกระทบต่อการเมืองการปกครองอย่างแท้จริง คือ พระราชอำนาจในการยับยั้งร่างพระราชบัญญัติ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการเห็นชอบของรัฐสภามาแล้วและนายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ แต่พระองค์อาจใช้พระราชอำนาจยับยั้งได้ เช่น กรณีพระราชบัญญัติข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งรัฐสภาจะต้องนำร่างพระราชบัญญัติที่ถูกยับยั้งนั้นไปพิจารณาใหม่


อำนาจอธิปไตย
          อำนาจอธิปไตย  หมายถึง อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการปกครองของรัฐที่มีอิสระ เสรีภาพ และมีความเป็นเอกราช มีอำนาจในการบริหารราชการ ทั้งกิจการภายในและนอกประเทศได้อย่างเต็มที่ โดยทั่วไปอำนาจอธิปไตยแยกใช้เป็น 3 ลักษณะ คือ อำนาจนิติบัญญัติ  อำนาจบริหาร และ อำนาจตุลาการ
          รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ระบุว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งหมายความว่า ในทางการเมืองประชาชนมีอำนาจสูงสุด แต่การใช้อำนาจทางกฎหมายต้องใช้ผ่านสถาบันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาลที่พิพากษา  อรรถคดีตามกฎหมายที่บัญญัติไว้แล้วในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ และตามขอบเขตที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เท่านั้น ดังนั้นองค์ประกอบของผู้ใช้อำนาจก็คือ ต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันนิติบัญญัติ สถาบันบริหาร และสถาบันตุลาการ อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่าอำนาจอธิปไตยตามกฎหมายไม่ได้อยู่ที่รัฐสภาเท่านั้น แต่แยกกันอยู่ใน 3 สถาบันหลักดังกล่าว ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่าอำนาจใดใหญ่ที่สุดหรือสำคัญกว่ากัน
          การกำหนดให้แยกการใช้อำนาจอธิปไตยออกเป็น 3 ส่วน และให้มีองค์กร 3 ฝ่าย เป็นผู้รับผิดชอบไปแต่ละส่วนนี้ เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยที่ไม่ต้องการให้มีการรวมอำนาจ แต่ต้องการให้มีการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน เพราะถ้าให้องค์กรใดเป็นผู้ใช้อำนาจมากกว่าหนึ่งส่วนแล้ว อาจเป็นช่องว่างให้เกิดการใช้อำนาจแบบเผด็จการได้

ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ มีดังนี้
          1. อำนาจนิติบัญญัติ หรือ สถาบันนิติบัญญัติ หมายถึง สถาบันที่ทำหน้าที่ออกกฎหมาย คือรัฐสภา ซึ่งมีรูปแบบเป็นสภาคู่ หรือ 2 สภา ประกอบด้วย
               1.1 สภาผู้แทนราษฎร สมาชิกมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต จำนวน 400 คน และการเลือกตั้งแบบสัดส่วน จำนวน 80 คน รวม 480 คน มีอำนาจหน้าที่ในการออกกฎหมาย
               1.2 วุฒิสภา สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนและการสรรหา มีจำนวน 150 คน มีหน้าที่ในการพิจารณากลั่นกรองพระราชบัญญัติโดยถี่ถ้วนไม่ต้องผูกพันกับฝ่ายรัฐบาล นอกจากนี้ยังมีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งและถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญของบ้านเมือง เช่น นายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
          สมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครอง อัยการสูงสุด เป็นต้น
          2. อำนาจบริหาร หรือ สถาบันบริหาร หมายถึงบุคคล คณะบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กรที่นำนโยบายของรัฐไปดำเนินการและนำไปปฏิบัติ สถาบันบริหารนั้นนอกจากจะเป็นสถาบันสร้างกฎหมายแล้ว ยังเป็นสถาบันสร้างนโยบายบริหารประเทศด้วย สถาบันบริหารจะนำนโยบาย และกฎหมายที่ผ่านความเป็นชอบของรัฐสภาแล้วไปดำเนินหรือไปปฏิบัติ องค์ประกอบของสถาบันบริหารประกอบด้วย
               2.1 ข้าราชการการเมือง คือข้าราชการซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนให้มาทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี เพื่อบริหารบ้านเมือง
               2.2 ข้าราชการประจำ คือ บุคลากรซึ่งเป็นกลไกหรือเครื่องมือในการนำนโยบายและกฎหมายไปปฏิบัติ ซึ่งต้อง
ปฏิบัติงานอย่างตรงไปตรงมา มีประสิทธิภาพสูง มีความรอบรู้ในหลักวิชาการ มีประสบการณ์ และมีระเบียบประเพณีการประพฤติปฏิบัติ
ที่เป็นแบบอย่าง มีสายการบังคับบัญชาของข้าราชการประจำอย่างชัดเจน มีการแบ่งงานกันทำเฉพาะอย่างตามความชำนาญ
          3. อำนาจตุลาการ หรือ สถาบันตุลาการ หมายถึง ศาลและผู้พิพากษาที่ปฏิบัติหน้าที่ในนามของรัฐ หรือในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ อำนาจตุลาการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมีสาระสำคัญ 2 ประการดังนี้
               3.1 อำนาจตุลาการในระบอบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญของไทยในอดีตได้แยกอำนาจระหว่างอำนาจตุลาการ
และอำนาจนิติบัญญัติไว้อย่างชัดเจน โดยจัดอำนาจตุลาการให้มีความอิสระจากฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ รัฐสภาจะก้าวก่ายอำนาจของศาลไม่ได้
               3.2 ศาล รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้วางหลักทั่วไปเกี่ยวกับหลักการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีว่าเป็นอำนาจศาล ซึ่งศาลในที่นี้หมายถึง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลทหาร ศาลยุติธรรม และศาลอื่นๆ

พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์
                กษัตริย์ หรือ พระมหากษัตริย์ คือประมุขหรือผู้ปกครองสูงสุดของรัฐ ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือในราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ปัจจุบันพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีน้อยมากซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศขนาดเล็ก พระมหากษัตริย์เป็นได้ด้วยการสืบสันตติวงศ์หรือโดยการยึดอำนาจจากพระมหากษัตริ์พระองค์เดิมแล้วปราบดาภิเศกตนเองขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์
        การสืบสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์จะสืบทอดต่อกันมาโดยเชื้อพระวงศ์ เรียกว่าพระราชวงศ์ เมื่อสิ้นสุดการสืบทอดโดยเชื้อพระวงศ์ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่จะเป็นตันพระราชวงศ์ใหม่ หรือเป็นผู้สถาปนาพระราชวงศ์ พระมหากษัตริย์อาจมีคำเรียกแตกต่างกัน เช่น พระราชาธิบดี พระจักรพรรดิ พระราชา เจ้ามหาชีวิต เป็นต้น
        กษัตริย์ ในสังคมฮินดู ยังหมายถึงวรรณะที่ 2 จาก 4 วรรณะ คือวรรณะพราหมณ์ วรรณะกษัตริย์ วรรณะแพศย์ และวรรณะศูทร
        ประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศและปกครองประเทศสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยโบราณ คำว่า "กษัตริย์" แปลว่านักรบผู้ยิ่งใหญ่ ในสมัยกรุงสุโขทัย มีการปกครองแบบพ่อปกครองลูก พระมหากษัตริย์จะมีพระนามขึ้นต้นว่า "พ่อขุน" มีความใกล้ชิดระหว่างกษัตริย์กับประชาชนมาก หลังจากรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแล้ว พระมหากษัตริย์สุโขทัยมีพระนามขึ้นต้นว่า "พญา" เพื่อยกฐานะพระมหากษัตริย์ให้สูงขึ้น ในรัชกาลพญาลิไท พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ เฟื่องฟูมาก จึงมีแนวคิด ธรรมราชา ตามคติพุทธขึ้นมา ทำให้พระนามขึ้นต้นของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่รัชกาลพญาลิไทเรียกว่า "พระมหาธรรมราชา" ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้รับคติพราหมณ์มาจากขอม เรียกว่า เทวราชา หรือ สมมติเทพ หมายถึงพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเทพมาอวตารเพื่อปกครองมวลมนุษย์ ทำให้ชนชั้นพระมหากษัตริย์มีสิทธิอำนาจมากที่สุดในอาณาจักร และห่างเหินจากชนชั้นประชาชนมากขึ้น คำขึ้นต้นพระนามเรียกว่า "สมเด็จ" หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย พระราชอำนาจด้านการปกครองถูกโอนมาเป็นของ รัฐบาลพลเรือนและทหาร พระมหากษัตริย์จะทรงใช้พระราชอำนาจผ่านฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ

พระราชสถานะและพระราชอำนาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
          รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับยืนยันความเป็นประมุขสูงสุดของพระมหากษัตริย์ โดยบัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้ หมายความว่า ผู้ใดจะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระมหากษัตริย์ไม่ได้ ผู้ละเมิดต่อพระมหากษัตริย์ถือว่าเป็นการกระทำความผิดอย่างร้ายแรง รัฐธรรมนูญบางฉบับถึงกับไม่ยอมให้มีการนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์
          การปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทย รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ได้รับการเชิดชูให้อยู่เหนือการเมือง และกำหนดให้มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการในการดำเนินการทางการเมืองการปกครอง รัฐธรรมนูญได้กำหนดพระราชอำนาจของ
พระมหากษัตริย์ ดังนี้
          1. ทรงใช้อำนาจอธิปไตย พระมหากษัตริย์ใช้อำนาจอธิปไตย เช่น อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ดังนี้
          ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภา หมายความว่า พระมหากษัตริย์ทางใช้อำนาจในการออกกฎหมาย คำแนะนำ และยินยอมของรัฐสภา เมื่อรัฐสภาร่างกฎหมายขึ้นแล้วจะทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมายตามขั้นตอนของ
รัฐธรรมนูญ
          ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี หมายความว่า การบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งนายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีดำเนินการไปนั้น ถือว่ากระทำไปในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้เพราะบรรดาพระราชบัญญัติพระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ปฏิบัติและรับผิดชอบทั้งสิ้น โดยนายกรัฐมนตรีจะต้องกราบบังคมทูลและลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ พระราชอำนาจทางด้านบริหารของพระมหากษัตริย์ดังกล่าวได้แก่ การตราพระราชกฤษฎีกาไม่ขัดต่อกฎหมาย การประกาศใช้และยกเลิกใช้กฎอัยการศึก การประกาศสงคราม เมื่อได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา การทำสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก หรือสนธิสัญญาอื่นกับนานาประเทศ หรือกับองค์การระหว่างประเทศ และการพระราชทานอภัยโทษ
          ทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล หมายถึง ศาลเป็นผู้พิจารณาพิพากษาอรรถคดีต่างๆ ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้งและการพ้นจาก ตำแหน่งของผู้พิพากษาและตุลาการก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้พิพากษาและตุลาการจะต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์
          2. ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ หมายความว่า พระมหากษัตริย์ไทยทรงอยู่ภายใต้กฎหมายก็เพียงเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ทรงอยู่เหนือกฎหมายอื่น ๆ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องตามกฎหมายใด ๆ มิได้ ทั้งนี้ก็เพราะต้องการเทิดทูนองค์พระประมุขของชาติ พระมหากษัตริย์ไม่ทรงกระทำผิด (The King can do no wrong) หมายความว่า พระมหากษัตริย์ไม่ต้องรับผิดชอบในพระบรมราชโองการหรือการกระทำในพระปรมาภิไธยของพระองค์ในกรณีที่มีความเสียหายบกพร่องเกิดขึ้น ผู้ลงนามรับสนองพระราชโองการจะต้องรับผิดชอบ เพราะในทางปฏิบัตินั้น พระมหากษัตริย์มิได้ทรงริเริ่ม หรือดำเนินข้อราชการต่าง ๆ ด้วยพระองค์เอง จะต้องมีเจ้าหน้าที่หรืองค์กรหนึ่งองค์กรใดเป็นฝ่ายดำเนินการและกราบทูลขึ้นมา จะไปละเมิดกล่าวโทษพระมหากษัตริย์มิได้
          3. ทรงเป็นุพุทธมามกะและทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก นั่นก็คือทรงเป็นผู้ทรงศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาขณะเดียวกันก็ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก คือ ทรงทำนุบำรุงอุปถัมภ์ศาสนาทั้งปวงในขอบขันฑสีมาด้วย โดยไม่เลือกแบ่งแยกว่าเป็นศาสนาใด สถาบันพระมหากษัตริย์กับศาสนาจึงเป็นสัญลักษณ์พิเศษอย่างหนึ่งของชาติไทย  รัฐธรรมนูญบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นพุทธมามกะและเป็นองค์อุปถัมภ์ค้ำชูศาสนาอื่น ๆ อย่างเสมอหน้ากัน
          4. ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย คำว่า พระมหากษัตริย์ หมายถึง นักรบผู้ยิ่งใหญ่ ด้วยเหตุนี้พระมหากษัตริย์ในอดีตจึงต้องทรงนำทัพออกศึกด้วยพระองค์เอง ปัจจุบันแม้การรบจะไม่เกิดมีขึ้นแล้วก็ตาม แต่พระมหากษัตริย์ก็ยังทรงเป็นมั่งขวัญของเหล่าทหารหาญ และเหนือสิ่งอื่นใดทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย ตามที่รัฐธรรมนูญได้ถวายพระเกียรติยศไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ว่า พระมหากษัตริย์ ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพสยาม และนับแต่วาระนั้นเป็นต้นมา รัฐธรรมนูญที่ตราขึ้นภายหลังก็ได้มีบทบัญญัติทำนองเดียวกันนี้ปรากฏอยู่ทุกฉบับ พระราชสถานะ จอมทัพไทย ตามรัฐธรรมนูญนี้ได้จำหลักลงในสำนึกของทหารไทยทุกคนเริ่มตั้งแต่ธงไชยเฉลิมพลประจำกองทหารนั้น ก็เป็นมงคลสูงสุดสำหรับหน่วย ด้วยเหตุว่าเป็นของที่ได้รับพระราชทานและได้บรรจุเส้นพระเจ้า(เส้นผม) ไว้ในพระกรัณฑ์(ตลับ) บนยอดปลายสุดของธง ดังนั้นเมื่อ กองทหารและธงไชยเฉลิมพลไปปรากฏอยู่ ณ ที่ใด ก็เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้เสด็จพระราชดำเนินร่วมไปด้วยในกองทัพนั้น ทหารไทยจึงมีขวัญมั่นคงเพราะต่างทราบดีว่าตนปฏิบัติหน้าที่เสี่ยงภัยเพื่อประโยชน์สูงสุดของชาติเช่นเดียวกับพระประมุขของตนนั่นเอง
          5. ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะสถาปนาฐานันดรศักดิ์และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของชาติ ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะพระราชทานเกียรติยศแก่ชนทุกชั้นไม่ว่าจะเป็นฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ สมณศักดิ์ (ฐานันดรศักดิ์ของพระภิกษุสงฆ์) และบรรดาศักดิ์ (ฐานันดรศักดิ์ของขุนนาง ข้าราชการ) และทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะพระราชทานและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกตระกูลทุกลำดับชั้นด้วย การที่จะทรงสถาปนาฐานันดรศักดิ์หรือพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้น ในสมัยราชาธิปไตยพระราชอำนาจเหล่านี้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยสุดแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแล้ว การสถาปนาและถอดถอนฐานันดรศักดิ์
การพระราชทานและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ต้องมีนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีรับสนองพระบรมราชโองการ
          อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังคงมีธรรมเนียมที่จะทรงสถาปนาฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์และพระราชทานสมณศักดิ์อยู่ แต่สำหรับบรรดาศักดิ์ขุนนางหรือข้าราชการนั้น ปัจจุบันได้ยกเลิกไปแล้ว
          6. ทรงเลือกและแต่งตั้งองคมนตรี คณะองคมนตรี คือ คณะที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ มีหน้าที่ถวายความเห็นต่อองค์พระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา องคมนตรีประกอบด้วยผู้มทรงคุณวุฒิต่าง ๆ โดยมีประธานองคมนตรีคนหนึ่งกับองคมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 18 คน การเลือก การแต่งตั้ง และการให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่งให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เพียงแต่ประธานรัฐสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งหรือพ้นจากตำแหน่งขององค์มนตรีอื่นๆ ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการทั้งสิ้น
          7. ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หมายถึง ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน พระมหากษัตริย์ เมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักรหรือทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ เช่น ประชวร ทรงผนวช ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ หรือเมื่อราชบัลลังก์ว่างลง ปกติแล้วเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้ใดด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา ผู้นั้นก็เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่ถ้ามิได้ทรงแต่งตั้งไว้ ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งที่สมควรต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบและในบางกรณีเช่น เมื่อราชบัลลังก์ว่างลง หรือระหว่างที่ยังไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อนได้
          ในรัชกาลปัจจุบันมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หลายคราว เช่น เมื่อเสด็จไปทรงศึกษาในต่างประเทศช่วงต้นรัชกาล เมื่อทรงผนวช หรือเมื่อเสด็จฯ ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในต่างประเทศ
          8. ทรงแก้ไขกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ กฎมณเฑียรบาลหมายถึง กฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นใช้บังคับในกิจการส่วนพระองค์ เช่น พระราชพิธีต่าง ๆ กิจการที่เกี่ยวกับสมาชิกแห่งพระราชวงศ์ หรือกิจการที่เกี่ยวกับราชสำนักหรือภายในเขตพระราชฐาน โดยไม่เกี่ยวกับราษฎรอื่น ๆ
          การสืบราชสมบัติ หมายถึง การขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ซึ่งนับต่อเนื่องจากพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนมิให้ขาดตอนกัน อันเป็นธรรมเนียมนานาประเทศ
          การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะ เมื่อมีพระราชดำริประการใดให้คณะองคมนตรีจัดทำร่างกฎมณเฑียรบาลแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อมีพระบรมราชวินิจฉัย เมื่อทรงเห็นชอบและทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประธานองคมนตรีแจ้งประธานรัฐสภาเพื่อให้ประธานรัฐสภาแจ้งให้รัฐสภาทราบ
          9. ทรงทำหนังสือสัญญา ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นๆ กับนานาประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ นอกจากนี้หนังสือสัญญาได้มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้เป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
          10. ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้พิพากษา ข้าราชการในพระองค์ และข้าราชการระดับสูง
          11. พระราชทานอภัยโทษ พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจที่จะอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษโดยมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พระราชสถานะและพระราชอำนาจที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
          พระราชอำนาจตามประเพณีของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยของไทย ซึ่งไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์อาจทรงใช้พระราชอำนาจต่อไปนี้ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน
          1. พระราชอำนาจที่จะทรงได้รับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ในฐานที่ทรงดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศ เป็นสิทธิของพระมหากษัตริย์
ที่จะทรงได้รับการถวายรายงานให้ทรงทราบถึงสถานการณ์หรือเรื่องราวของบ้านเมืองเสมอ การที่พระองค์จำเป็นต้องทรงทราบถึงเรื่องราวสำคัญก็เพื่อที่จะทรงให้คำแนะนำ ตักเตือน เพื่อประกอบการพิจารณาของรัฐบาลหรือผู้ทราบรับผิดชอบเรื่องนั้น ๆ
          2. พระราชอำนาจที่จะพระราชทานคำปรึกษาหารือ ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีปัญหาเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน อาจนำปัญหาขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยได้
          3. พระราชอำนาจที่จะพระราชทานคำแนะนำตักเตือน พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะให้คำแนะนำ ตักเตือนในบางเรื่อง บางกรณีแก่รัฐสภา รัฐบาลและศาล หรือองค์กรอื่น ๆ ที่ทรงเห็นว่าถ้ากระทำไปแล้วจะเกิดผลเสียหายแก่บ้านเมือง
          4. พระราชอำนาจที่จะพระราชทานการสนับสนุน พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะพระราชทาน  หรือให้การสนับสนุนการกระทำ  หรือกิจการใดๆ ของรัฐหรือเอกชนได้ เช่น โครงการหมู่บ้านสหกรณ์ โครงการฝนหลวง โครงการอีสานเขียว โครงการสร้างเขื่อน การที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริและให้การสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ย่อมเป็นขวัญและกำลังใจสำหรับผู้ที่ดำเนินการนั้นๆ

พระราชสถานะทางสังคม
          สังคมไทยยกย่องเทิดทูนพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันคู่บ้านคู่เมือง เป็นสัญลักษณ์ของชาติ ทรงได้รับการเชิดชูจากสังคมไทย ดังนี้
          1. ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน พระมหากษัตริย์ทรงทำให้เกิดความสำนึกในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้ทุกสถาบันมีจุดรวมจากแหล่งเดียวกัน แม้จะมีความแตกต่างกันในด้านเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนา ก็มีความสมานสามัคคีกลมเกลียวกันในหมู่ชนเหล่านั้น ทรงรักใคร่ห่วงใยประชาชน ทรงมีเมตตาต่อประชาชนทุกหมู่เหล่า พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นถิ่นทุรกันดารหรือมีอันตรายเพียงใด เพื่อทรงทราบถึงทุกข์สุขของประชาชน ประชาชนก็มีความผูกกันกับพระมหากษัตริย์อย่างลึกซึ้ง แน่นแฟ้น มั่นคง จนยากที่จะทำให้สั่นคลอนหรือแตกแยกได้
          2. ทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งความต่อเนื่องของชาติ พระมหากษัตรีย์ทรงเป็นประมุขของชาติไทยสืบต่อกันมาโดยไม่ขาดสายตั้งแต่อาณาจักรไทยในอดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนไปกี่ยุคสมัยก็ตาม ทำให้ระบบการเมืองและชาติไทยมีความสมานฉันท์และต่อเนื่องตลอดเวลา
          3. ทรงเป็นพลังในการสร้างขวัญและกำลังใจของประชาชน พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่มาของแหล่งเกียรติยศทั้งปวง ก่อให้เกิดความภาคภูมิ ปิติยินดี และเกิดกำลังใจในหมู่ประชาชนทั่วไปที่จะรักษาคุณงามความดีและพยายามกระทำความดี เพื่อให้พระมหากษัตริย์สบายพระทัย
          4. ทรงมีส่วนสำคัญในการรักษาผลประโยชน์ของประชาชน พระมหากษัตริย์ทรงขึ้นครองราชย์ด้วยความเห็นชอบยอมรับของประชาชน และทรงใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชนในการรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและบ้านเมืองเป็นสำคัญ ซึ่งอาจต่างจาก
ประมุขของประเทศอื่นที่ขึ้นดำรงตำแหน่งโดยการเลือกตั้ง จึงต้องยึดนโยบายของกลุ่มหรือพรรคการเมืองที่ตนสังกัดเป็นหลัก
          5. ทรงแก้ไขวิกฤตการณ์ สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นกลไกสำคัญในการยับยั้งและแก้ไขวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงภายในประเทศได้ ในบางครั้งประเทศไทยเกิดการขัดแย้งกันเองตามระบอบประชาธิปไตย พระมหากษัตริย์ ก็สามารถยุติได้ด้วยพระบารมีของพระองค์ เช่น เหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยเมืองเดือนตุลาคม 2516 และเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 เป็นต้น
          6. ทรงส่งเสริมความมั่นคงของประเทศ พระมหากษัตริย์เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ทั้งประชาชน รัฐบาล หน่วยราชการ กองทัพ นิสิต นักศึกษา ปัญญาชน หรือกลุ่มต่าง ๆ แม้กระทั่งชนกลุ่มน้อยในประเทศ เช่น ชาวไทยภูเขา ชาวไทยมุสลิม เป็นต้น ทำให้ทุกฝ่ายมีความมุ่งมั่นและมีความพรักพร้อมที่จะรักษาความมั่นคงและเอกราชของชาติไว้
          7. ทรงมีส่วนเสริมสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ พระมหากษัตริย์ไทยในอดีตได้ทรงดำเนินวิเทโศบายได้อย่างดีจนสามารถรักษาเอกราชไว้ได้ โดยเฉพาะสมัยการล่าเมืองขึ้นของชาติตะวันตก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสยุโรปถึง 2 ครั้ง เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศมหาอำนาจในยุโรป สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ก็ทรงดำเนินการให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศต่าง ๆ กับประเทศไทย โดยเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยือนประเทศต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 31 ประเทศ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับต่างประเทศดำเนินไปได้อย่างสะดวกและราบรื่น
          8. ทรงเป็นผู้นำในการพัฒนาและปฏิรูปด้านต่าง ๆ การพัฒนาและการปฏิรูปที่สำคัญ ๆ ของชาติส่วนใหญ่ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้นำ ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงปูพื้นฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยจัดตั้งกระทรวงต่าง ๆ ทรงส่งเสริมการศึกษาและเลิกทาส กระทั่งถึงรัชกาลปัจจุบันได้ทรงเกื้อหนุนวิทยาการสาขาต่าง ๆ ทรงสนับสนุนการศึกษาและศิลปวัฒนธรรม ทรงริเริ่มกิจการอันเป็นการแก้ปัญหาหลัก ทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยเฉพาะแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ผ่านโครงการ
พระราชดำริ ซึ่งมุ่งเน้นการแก้ปัญหาให้แก่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ได้แก่ ชาวนา ชาวไร่ และประชาชนผู้ด้อยโอกาส เช่น โครงการพัฒนาที่ดิน โครงการสหกรณ์ โครงการพัฒนาชาวเขา และการเกษตรทฤษฎีใหม่เป็นต้น
          9. ทรงมีส่วนเกื้อหนุนระบอบประชาธิปไตย สถาบันพระมหากษัตริย์มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยให้มีความเข้มแข็งและมั่นคง เพราะการที่ประชาชนเกิดความจงรักภักดีและเชื่อมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้ประชาชน
เกิดความศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วย เนื่องจากเห็นว่าเป็นระบอบการปกครองที่เชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะของประชนนั่นเอง

การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
                1. ความหมายของการเมืองการปกครอง
                                1.1 การเมือง เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวิธีการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดินและการใช้อำนาจในการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดิน และการใช้อำนาจที่ได้มาเพื่อสร้างความผาสุกให้แก่ประชาชน
                                1.2 การปกครอง หมายถึง การทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้แก่ ข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจทั้งหลาย ตามกฎหมายและนโยบายของรัฐบาล
                                1.3 รูปแบบการปกครอง อาจสรุปได้ว่ามีอยู่ 3 รูปแบบสำคัญ คือ
                (1) แบบการปกครองโดยคน ๆ เดียว
                (2) แบบการปกครองโดยคณะบุคคล
                (3) แบบการปกครองโดยเสียงส่วนใหญ่ เป็นรูปแบบการปกครองซึ่งเป็นที่นิยมใน
ปัจจุบัน โดยถือว่าประชาชนทุกคนในประเทศมีสิทธิในการปกครองประเทศ ซึ่งเรียกรูปแบบการปกครอง
นี้ว่า ประชาธิปไตย
                2. ความเป็นมาของการเมืองการปกครองไทย
                ชนชาติไทยเป็นชาติที่เก่าแก่ และมีประวัติศาสตร์วัฒนธรรมเป็นของตนเองที่ยาวนาน
ชาติหนึ่ง จึงมีการพัฒนารูปแบบการปกครองของตนเองเพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์ของบ้านเมือง
โดยเริ่มต้นจากการปกครองในสมัยกรุงสุโขทัย ซึ่งเป็นการปกครองโดยพระมหากษัตริย์สืบเนื่องมาจนถึงสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ (กรุงเทพมหานคร) จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 และยึดถือเป็นรูปแบบในการปกครองประเทศมาจนถึงปัจจุบัน
                3. การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
                การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น พระมหากษัตริย์
ยังทรงมีฐานะเป็นพระประมุขของประเทศและทรงใช้อำนาจอธิปไตยในการปกครองประเทศ ดังนี้
·       3.1 ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางสถาบันรัฐสภา
·       3.2 ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี
·       3.3 ทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล
                4. ความหมายและหลักการของระบอบประชาธิปไตย
                                4.1 ความหมายของประชาธิปไตย
ประชาธิปไตย หมายถึง การปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่ รากศัพท์มาจากคำว่า
ประชา + อธิปไตย คือ ประชาชน + อำนาจสูงสุด คือ ประชาชนมีอำนาจสูงสุด ซึ่งประธานาธิบดี
การเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น




อับบราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า ประชาธิปไตยหมายถึง การปกครองของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน ตลอดจนเป็นวิธีการในการดำเนินการชีวิตของคนในการอยู่ร่วมกันโดยสันติ ภายใต้ความเชื่อที่ว่า คนเราเกิดมาเท่าเทียมกัน มีสิทธิเสรีภาพในการดำเนินชีวิตภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย
                                4.2 การปกครองระบอบประชาธิปไตย
การปกครองระบอบประชาธิปไตย หมายถึง การปกครองของประชาชนโดยประชาชน และเพื่อประชาชน โดยมีลักษณะที่สำคัญ ดังนี้
                (1) ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจในการปกครอง
                (2) ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองโดยตรงหรือโดยอ้อม
                (3) เป็นการปกครองที่ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุด นโยบายและ
การดำเนินการของรัฐบาลจะต้องมุ่งให้เกิดประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่
                (4) ยึดถือเสียงข้างมากเป็นหลักในการปกครอง ในขณะเดียวกันก็เคารพเสียงข้างน้อย
                (5) ประชาชนมีความเสมอภาคกัน และมีสิทธิเสรีภาพตามที่กฎหมายกำหนด
                (6) ประชาชนมีอำนาจในการควบคุมรัฐบาลทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
                                4.3 หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย
การปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่ยึดมั่นหลักการขั้นพื้นฐาน ดังนี้
                (1) การยอมรับว่าคนทุกคนมีสติปัญญา มีเหตุผล
                (2) ยอมรับว่าทุกคนมีอิสระและเสรีภาพ
                (3) การยอมรับว่าทุกคนมีความเท่าเทียมกัน
                (4) อำนาจสูงสุดในการปกครองเป็นของประชาชน
                (5) อำนาจปกครองของรัฐบาลเกิดขึ้นจากความยินยอมของประชาชนผู้ถูกปกครอง
โดยมีวิธีการแสดงความยินยอมต่าง ๆ ที่สำคัญ คือ การใช้สิทธิเลือกตั้ง
                (6) ประชาชนมีสิทธิในการคัดค้านหรือเปลี่ยนแปลงรัฐบาลตามวิธีการที่กฎหมาย
กำหนด หากว่ารัฐบาลไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ เช่น การเปลี่ยนไปลงคะแนน
เสียงให้พรรคฝ่ายค้านเมื่อมีการเลือกตั้ง การเข้าชื่อถอดถอนนายกรัฐมนตรี
                                4.4 กติกาประชาธิปไตย มีดังนี้
                (1) การเลือกตั้งโดยเสรี เพื่อกำหนดบุคคลที่จะรับมอบอำนาจในการปกครอง
การบริหาร
                (2) การให้สิทธิคัดค้านอย่างมีเหตุมีผลและบริสุทธิ์ใจ
                (3) การให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
                (4) มีวินัยและเคารพกฎหมาย
                (5) ตัดสินปัญหา โดยเสียงข้างมากและยอมรับความสำคัญของเสียงข้างน้อย
                (6) การมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครอง เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิ
เสรีภาพของประชาชน
การเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยและ
การมีส่วนร่วมของประชาชนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
                (7) การมีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร
                4.5 รูปแบบประชาธิปไตย แบ่งออกได้เป็นสองรูปแบบ ดังนี้
                                4.5.1 ประชาธิปไตยโดยตรง (Direct democracy)
ประชาธิปไตยโดยตรงเกิดขึ้นในชุมชนเล็ก ๆ เช่น ในสมัยกรีกโบราณ ซึ่ง
สามารถเรียกประชุมประชาชนได้ทุกคนและลงมติโดยการชูมือ
                                4.5.1 ประชาธิปไตยโดยการเลือกตั้งตัวแทน (Representative democracy)
เนื่องจากประชาชนในชุมชนมีเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีเลือกตั้งผู้แทน
เข้าไปทำหน้าที่แทนตนในรัฐสภา ซึ่งประชาธิปไตยโดยการเลือกตั้งตัวแทนมีสองระบบ คือระบบรัฐสภา ซึ่ง มีประเทศอังกฤษเป็นแม่แบบ และระบบประธานาธิบดี ซึ่งมีประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นแม่แบบ ลักษณะสำคัญของประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งตัวแทน มีดังนี้
                (1) มีพรรคการเมืองเสนอนโยบายให้ประชาชนเลือก
                (2) มีการเลือกตั้ง
                (3) มีการใช้สิทธิออกเสียงโดยประชาชน
                (4) มีรัฐบาลที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของผู้แทนราษฎร
                5. ลักษณะของอำนาจอธิปไตย
อำนาจอธิปไตยเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ซึ่งตามระบอบประชาธิปไตย
ถือว่าเป็นอำนาจของประชาชน แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
                                5.1 อำนาจนิติบัญญัติ เป็นอำนาจในการออกกฎหมายและควบคุมการทำงานของรัฐบาลเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ ประชาชนชาวไทยใช้อำนาจนี้โดยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปทำหน้าที่แทนตนในรัฐสภา
                                5.2 อำนาจบริหาร เป็นอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินและการปกครอง ซึ่งมี
คณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาล เป็นผู้ใช้อำนาจและรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตาม
นโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา
                                5.3 อำนาจตุลาการ เป็นอำนาจในการวินิจฉัยตัดสินคดีความตามกฎหมาย โดยมีศาล
สถิตยุติธรรมเป็นผู้ใช้อำนาจ
                6. สถาบันการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
สถาบันที่สำคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ได้แก่
                                6.1 สถาบันพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของชาติ และทรงใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งมาจากปวงชนชาวไทย โดยผ่านทางสถาบันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล
                                6.2 รัฐสภา เป็นสถาบันที่ทำหน้าที่ตรากฎหมาย จัดตั้งรัฐบาล และควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ประเทศไทยมีรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย 2 สภา คือ
·       การเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยและ
·       การมีส่วนร่วมของประชาชนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
                 (1) สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีหน้าที่ออกกฎหมาย จัดตั้ง
และควบคุมการทำงานของรัฐบาล
                (2) วุฒิสภา ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย
อนึ่ง รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีผู้นำฝ่ายค้านในสภา ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจาก
หัวหน้าพรรคการเมือง ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาล และเป็นพรรคการเมืองที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองที่ไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาล ทั้งนี้ จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองนั้นต้องมีไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกผู้แทนราษฎรทั้งหมดหรือตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป
                                6.3 คณะรัฐมนตรี หรือรัฐบาล ซึ่งประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีหนึ่งคน และ
รองนายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทบวง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงหรือทบวงอีกไม่เกิน 35 คน (โดยมีข้าราชการจากกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆเป็นผู้ดำเนินงานตามคำสั่ง ระเบียบ กฎหมาย)
                                6.4 ศาล รับผิดชอบในการตัดสินวินิจฉัยคดีต่าง ๆ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายในประเทศไทยแบ่งศาลออกเป็น 3 ชั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสูงสุด

การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย
ลักษณะของการมีส่วนร่วมทางการเมือง
                ความหมาย
                การมีส่วนร่วมทางการเมืองว่า หมายถึง การกระทำใด ๆ ก็ตามที่เกิดโดยความเต็มใจไม่ว่าจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ และไม่ว่าจะมีการจัดการอย่างไรเป็นระเบียบหรือไม่ และไม่ว่าจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวหรือต่อเนื่องกัน จะใช้วิธีที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ถูกกฎหมาย เพื่อผลในการที่จะมีอิทธิพลต่อการเลือกนโยบายของรัฐหรือต่อการบริหารงานของรัฐ หรือต่อการเลือกผู้นำทางการเมืองของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นในระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ
ความสำคัญ
                การมีส่วนร่วมทางการเมืองมีความสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตย คือ ทำให้ผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองได้มีโอกาสทราบความต้องการของกันและกันอย่างแท้จริงทำให้การดำเนินนโยบายของรัฐตอบสนองต่อผู้เป็นเจ้าของประเทศในด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม
รูปแบบของการมีส่วนร่วมทางการเมือง
รูปแบบของการมีส่วนร่วมทางการเมือง 5 ประการ คือ
·       การออกเสียงเลือกตั้ง
·       การรณรงค์หาเสียง
·       การกระทำ ของแต่ละบุคคลเป็นเอกเทศต่อปัญหาทางการเมืองและสังคม
·       การเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่ม
·       กิจกรรมที่ใช้ความรุนแรง และอาจเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

การมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครอง
                1)การไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
                การไปลงคะแนนเลือกตั้ง เป็นการมีส่วนร่วมทางการเมือง ที่ประชาชนของไทยรู้จักดีมากที่สุดรูปแบบหนึ่ง การเลือกตั้งเป็นเงื่อนไขที่สำคัญมาก ถ้าไม่มีการเลือกตั้งประเทศนั้นก็มิใช่ประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยเมืองไทยนั้น มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรครั้งแรก เมื่อวันที่15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 แต่เป็นการเลือกตั้งทางอ้อมเพราะประชาชนต้องเลือกผู้แทนในระดับท้องถิ่น และให้ผู้แทนท้องถิ่นไปเลือกผู้แทนราษฎรอีกทีหนึ่งปัจจุบันนอกจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิกแล้ว เมืองไทยยังมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล สมาชิกสภาจังหวัด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และสมาชิกสภาเขต (กรุงเทพฯ)และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอีกด้วย
                2)การรณรงค์หาเสียง
                ในประเทศไทยอาจแบ่งการรณรงค์หาเสียงเป็น 2 ระยะเวลา คือ  การรณรงค์หาเสียงในระยะเวลาที่ไม่มีพรรคการเมืองการรณรงค์หาเสียงในระยะมีพรรคการเมืองในระยะที่ไม่มีพรรคการเมืองนี้ การรณรงค์หาเสียง จะใช้บุคลิกและความสามารถตลอดจนชื่อเสียงส่วนตัว ยังไม่มีการกำหนดนโยบายเป็นส่วนรวมของกลุ่ม และของพรรคการเมืองแต่อย่างใดจนกระทั่งการเลือกตั้ง ทั่วไป ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2489พรรคการเมืองจึงได้เป็นรูปเป็นร่างแม้ว่าจะไม่มีพระราชบัญญัติ พรรคการเมืองก็ตาม มีการรณรงค์หาเสียงอย่างกว้างขวาง แต่เมื่อมีการยึดอำนาจการปกครองในเวลาต่อมาพรรคการเมืองจึงหมดบทบาทไป และกลับมามีบทบาทอีกครั้งหนึ่ง เมื่อรัฐบาลได้ออกกฎหมายพรรคการเมืองฉบับแรก เมื่อปี พ.ศ.2498มีพรรคการเมืองมา จดทะเบียนถึง 30 พรรคและในการเลือกตั้งครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 ประชาชนและพรรคการเมืองเข้ามา มีส่วนร่วมทางการเมืองในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งอย่างกว้างขวางการดำเนินกิจกรรมของบุคคลและกลุ่มต่อปัญหาการเมือง เศรษฐกิจและสังคม
                ประเทศไทย การมีส่วนร่วมทางการเมืองลักษณะนี้มีค่อนข้างน้อย เช่น อภิปรายแบบไฮปาร์คซึ่งมีขึ้นที่สนามหลวงในช่วงก่อนเลือกตั้งปี พ.ศ.2500 โดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม นำแบบการไฮปาร์คมาจากอังกฤษ และการทำ เพรสคอนเฟอร์เรนซ์มาจากสหรัฐอเมริกาการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบเข้ากลุ่มในเมืองไทย พอจะเห็นมีเพียง 3 กลุ่ม คือ
                1. กลุ่มหรือองค์กรของกรรมกร
                องค์กรกรรมกร มีขึ้นในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2487 ชื่อว่า สหบาลกรรมกรกลาง (Central Union of Labour)ในปี พ.ศ.2494 สหบาลกรรมกรเปลี่ยนชื่อเป็น สมาคมกรรมกรไทย” (Thai National Trades Union Congress) ในปี พ.ศ.2497มีการจัดตั้งสมาคมแรงงานเสรีแห่งประเทศไทย (Thai Free Workmen’s Association of Thailand) ในปี พ.ศ.2518 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ กรรมกรผู้ใช้แรงงานต่างก็พากันมารวมกลุ่ม และพัฒนามาเป็นสหภาพแรงงานแห่งประเทศไทย” (Labour Congress of Thailand)
                2.กลุ่มหรือองค์กรชาวนา
                ในบรรดากลุ่มทุกกลุ่ม กลุ่มชาวนาจะมีบทบาทมากที่สุด เพราะประเทศไทยมีผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมถึงร้อยละ 70 ของประชาชน แต่ความเป็นจริงชาวนาไทยไม่ได้รวมเป็นกลุ่ม หรือองค์กรที่มีลักษณะถาวรมักจะเป็นการรวมตัวกันชั่วคราว เช่น ชาวนาชาวไร่ ในตำบลหมู่บ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจะร่วมกันเดินทางมาร้องเรียนรัฐบาล ในเรื่องการประกันราคาข้าว เป็นต้น
องค์กรของชาวนาแบ่งเป็น 3 ประเภท สำหรับในบทบาทการมีส่วนร่วมทางการเมืองไทย ได้แก่
·       กลุ่มชาวนา
·       สมาคมชลประทานราษฎร์
·       สหกรณ์
                3.พรรคการเมือง
                ประเทศไทยมีความพยายามสร้างระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยมากว่า 50 ปีแต่การสร้างพรรคการเมืองมีเวลาน้อยมาก พรรคการเมืองไม่มีบทบาทสำคัญ ไม่ได้มีฐานอยู่ที่ประชาชนเมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อไร จึงค่อยมีการตั้งพรรคการเมืองกันขึ้นมา เหตุ สำคัญที่ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เนื่องจากการได้อำนาจของผู้ปกครองที่ผ่านมาในประเทศไทยนั้น หลายครั้งไม่ได้อาศัยพรรคการเมืองเป็นฐาน พรรคการเมืองเองก็ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การเข้าไปรวมกลุ่ม
อยู่ในพรรคการเมืองมีความสำคัญมากกว่ากลุ่มอื่น แต่ความเป็นจริงก็ไม่ได้สำคัญไปกว่ากลุ่มอื่น ๆ เท่าใด การมีส่วนร่วมของประชาชนโดยการเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมือง จึงยังจัดว่าไม่น่าพอใจและมีประสิทธิภาพเท่าที่ควรจะเป็นกิจกรรมที่ใช้ความรุนแรงของประชาชน กิจกรรมที่ใช้ความรุนแรงของประชาชนจะมีทั้งทำกันเป็นเอกชนและทำกันเป็นกลุ่มทั้งผิดกฎหมายและถูกกฎหมาย แต่ก็ถือว่าเป็นการแสดงออกของการมีส่วนร่วมทางการเมืองเหมือนกัน ได้แก่
                1) การลอบทำร้ายบุคคลสำคัญทางการเมือง เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและมีโทษทางอาญาไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีความรุนแรงมากหรือน้อยก็ตาม การกระทำที่ไม่รุนแรงนัก ได้แก่ การด่าว่านักการเมือง การทำร้ายร่างกายด้วยการชกต่อย ซึ่งเกิดขึ้นแก่นักการเมืองและหัวคะแนนทุกครั้งเมื่อมีการหาเสียงเลือกตั้ง การกระทำที่รุนแรง ได้แก่ การลอบสังหาร เช่น การลอบสังหาร พ.ต. หลวงพิบูลสงคราม ในปี พ.ศ.2481 หรือการลอบสังหาร พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่จังหวัดลพบุรีเมื่อปี 2524
                2) การประท้วง การมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ใช้ความรุนแรงและทำกันเป็นกลุ่มนั้น คือ กรณีที่นิสิตนักศึกษาได้ประชุมประท้วงการเลือกตั้งทั่วไป ครั้งที่ 8เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500ว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่เรียบร้อยมีการประท้วงที่มหาวิทยาลัยและที่สนามหลวงตลอดจนเดินไปทำเนียบรัฐบาลกรุงเทพฯอีกกรณีหนึ่ง คือ เหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14ตุลาคม2516ช่วงนั้นนักศึกษาประชาชนพากันเรียกร้องรัฐธรรมนูญเพื่อกลับไปปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีการเดินขบวนครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปร่วมกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และพระบรมรูปทรงม้า ตลอดจนเต็มถนนราชดำเนินในกรุงเทพฯ การรวมกลุ่มกันประท้วงในสังคม ไทยนั้นยังมีความสำคัญที่มีผลต่อนโยบายของผู้นำประเทศอีก เช่น
                กรณีแรก ได้แก่ การประท้วงการขึ้นราคาน้ำมันเมื่อกุมภาพันธ์ พ.ศ.2523 ปรากฏว่ามีกลุ่มกรรมกรร่วมกันกับผู้แทนนักศึกษา 18 สถาบัน นัดประชุมกันที่สนามหลวง การประท้วงครั้งนั้นมีผลทำให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
                กรณีที่สอง การประท้วงการขึ้นค่ารถเมล์ในกรุงเทพฯ ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2525 โดยผู้นำของนิสิตินักศึกษาและกลุ่มกรรมกร ได้ร่วมกันเรียกร้องรัฐบาลลดค่าโดยสารรถเมล์ในราคาเดิม และก็มีผลสำเร็จ รัฐบาลยอมตามข้อเรียกร้องจึงเห็นได้ว่าการรวมกลุ่มกันกระทำการนั้นมีอิทธิพลในการเปลี่ยนผู้นำและนโยบายที่สำคัญ ๆ ของรัฐบาลได้อย่างเห็นได้ชัด

ข้อจำกัดของการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
                สภาพเร้าระดมทางสังคม
                ถ้าสังคมมีการเร้าระดมทางสังคมต่ำ หมายความว่า ราษฎรที่ได้รับการศึกษามีจำนวนน้อย การเข้าถึงสื่อมวลชนก็มีน้อย การพัฒนาเป็นสังคมเมืองก็ต่ำ สิ่งเหล่านี้ก็คือ ข้อจำกัดของการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่สำคัญ
                ภาวะทางเศรษฐกิจหรือการครองชีพ
                ประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีและมีความมั่งคั่งจะมีโอกาสเป็นประชาธิปไตยได้มากกว่าประเทศที่ยากจน ในประเทศยากจนราษฎรเองจะมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองน้อย แต่ถ้าความยากจน ความขาดแคลนและเดือดร้อนทางเศรษฐกิจมีมากเกินไปจนอยู่ในภาวะเกินทนแล้ว อาจจะผลักดันให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นก็ได้
                ข้อจำกัดทางการเมือง
                ถ้าระบอบการเมืองเป็นระบอบประชาธิปไตยประชาชนก็จะมีส่วนร่วมทางการเมืองสูง แต่ถ้าการปกครองแบบเผด็จการ ประชาชนก็จะมีส่วนร่วมทางการเมืองต่ำและจะเป็นไปในรูปของการมีส่วนร่วม โดยการปลุกเร้าระดมเพื่อสนับสนุนรัฐบาลนั่นเอง
                วัฒนธรรมทางการเมือง
                ถ้าการมีบทบาททางการเมืองที่จำกัดอยู่แต่เฉพาะกลุ่มบุคคลเพียงไม่กี่ตระกูลซึ่งกลุ่มบุคคลเหล่านี้มีทั้งอิทธิพลและอำนาจเงินทำให้คนมีความรู้ไม่อยากเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมือง

ปัญหาการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน
                ปัญหาความตื่นตัวทางการเมือง
                การมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้น จะต้องเป็นการมีส่วนร่วมแบบสมัครใจ ไม่ใช่เป็นแบบปลุกระดม สำหรับการมีส่วนร่วมแบบเสรีหรือแบบสมัครใจนี้จะเกิดขึ้นได้ เมื่อประชาชนมีความสำนึกทางการเมืองหรือความตื่นตัวทางการเมืองเสียก่อน
คนไทยยังมีส่วนร่วมทางการเมืองอยู่ในระดับต่ำ เช่น การไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ซึ่งมีอัตราส่วนน้อยกว่าร้อยละ 50 ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงผู้ที่ไปออกเสียงก็มักจะถูกจ้างวาน ชักจูงหรือถูกระดมไป การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยจากอดีตเป็นต้นมา ส่วนใหญ่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม ทั้งในด้านการสนับสนุนหรือการต่อต้าน แสดงให้เห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่มีความนิ่งเฉยทางการเมือง ส่วนมากอยู่ในกลุ่มของผู้นำทางการเมืองไม่กี่กลุ่มกี่ตระกูล แม้แต่การปฏิวัติเมื่อ พ.ศ.2475 ก็ตามเหตุการณ์ที่แสดงถึงความตื่นตัวทางการเมืองและการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนอย่างกว้างขวางคือ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีประชาชน นิสิต นักศึกษา นักเรียน ร่วมกันเรียกร้องรัฐธรรมนูญต่อต้านการปกครองของจอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียรและพันเอกณรงค์ กิตติขจร ผู้นำของประเทศขณะนั้น ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งของการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนคือบทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)กล่าวได้ว่า พคท. มีบทบาทอย่างมาก ในการปลุกเร้าความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนในชนบท แต่เป็นประเภทผิดกฎหมาย คือ การล้มล้างรัฐบาล ระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมโดยการใช้กำลังและความรุนแรงดังนั้นปัญหาสำคัญของการมีส่วนร่วมของไทยอย่างหนึ่งคือ ประชาชนยังมีความนิ่งเฉย หรือไม่ตื่นตัวทางการเมืองมากพอปัญหาวัฒนธรรมทางการเมืองและการศึกษา
                วัฒนธรรมทางการเมืองที่มีส่วนร่วมในการกระตุ้นให้ประชาชน มีส่วนร่วมทางการเมืองนั้นคือ วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย หรือวัฒนธรรมทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมสำหรับเมืองไทย มีงานวิจัยหลายเรื่องสรุปและแสดงถึงว่าวัฒนธรรมทางการเมืองของคนไทยไม่สนับสนุนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง เพราะประชาชนโดยทั่วไปเชื่อว่าการเมือง หรือการบริหารประเทศเป็นเรื่องของคนกลุ่มน้อยบางกลุ่มเท่านั้น อีกประการหนึ่งคนไทยยังเห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์อย่างชัดแจ้งจนเกินไป การเมืองเป็นเรื่องของความ สกปรกความรู้สึกเช่นนี้ทำให้ประชาชนขาดความศรัทธาหรือความกระตือรือร้น ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง แต่ถ้าเข้ามาก็มักจะมีวัตถุประสงค์อย่างอื่น เช่น เพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินทองหรือการช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องของสำนึกทางการเมืองลักษณะของวัฒนธรรมทางการเมืองของคนไทยอีกประการหนึ่งที่ไม่สนับสนุนการมีส่วนร่วมทางการเมือง คือการยอมรับในอำนาจนิยมของความเป็นข้าราชการ นั้นคือ ประชาชนโดยทั่วไปมองว่าข้าราชการเป็นชนชั้นผู้นำ เมื่อข้าราชการแนะนำหรือชักจูงไปในทางใดประชาชนจึงมักปฏิบัติตามโดยไม่โต้แย้ง ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการของประชาธิปไตย ในด้านการศึกษาการจัดการเรียนการสอน ยังคงยึดนโยบายจากส่วนกลางยังไม่มีการกระจายอำนาจทางการศึกษาลงไปสู่ภูมิภาค และท้องถิ่นในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนก็เช่นกัน ยังคงเป็นบทบาทของผู้บริหารและครูเท่านั้นนักเรียนและผู้ปกครองยังไม่มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้เป็นไปตามความต้องการของท้องถิ่นปัญหาจากบทบาทของพรรคการเมือง
                การที่ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองน้อยมีสาเหตุอีกประการหนึ่งคือการขาดองค์กรหรือสถาบันทางการเมืองที่คอยกระตุ้นให้ประชาชนมีความกระตือรือร้นทางการเมืองอยู่เสมอ และเป็นกลุ่มเป็นก้อน สถาบันทางการเมืองที่สำคัญคือ ระบบพรรคการเมือง” (Political Party)ในปัจจุบันพรรคการเมืองยังเป็นองค์กรที่อ่อนแอ และขาดความเป็นสถาบันที่ต่อเนื่องดีพอปัญหาที่สำคัญที่สุดของพรรคการเมืองไทย คือ การขาดองค์กรที่ซับซ้อนพอที่จะเผชิญกับความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วพรรคการเมืองไทยตั้งขึ้นจากการรวมตัวของบรรดาสมาชิก เพื่อสนับสนุนผู้นำทางการเมืองคนใดคนหนึ่งเท่านั้นพรรคการเมืองทุกพรรคไม่ว่าพรรคเล็กหรือพรรคใหญ่มีสาขาพรรคน้อยมาก สาขาบางแห่งมีแต่รูปแบบที่เป็นทางการเท่านั้นไม่มีบทบาทอะไรสาขาพรรคมีความสำคัญอยู่ 2 ประการ คือ
                1) เป็นหน่วยงานของพรรคเชื่อมโยงกับประชาชนในเขตเลือกตั้ง และช่วยสร้างฐานสนับสนุนของพรรคในหมู่ประชาชนเลือกตั้ง
                2) เป็นหน่วยงานของพรรค ในการร่วมคัดเลือกผู้รับสมัครรับเลือกตั้งในเขตนั้น ๆ
สาเหตุที่พรรคการเมืองอ่อนแอ อีกประการหนึ่ง คือ ที่ประชุมใหญ่ของพรรค (Party Congress) ยังไม่มีระบบที่ดีพอขาดประสิทธิภาพ การประชุมใหญ่ของพรรคเป็นเรื่องของสมาชิกบางคน บางกลุ่ม และมักอยู่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น ขาดสมาชิกพรรคตามสาขาและเขตต่าง ๆ นอกจากนี้การบริหารงานในพรรคยังขาดหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพการแตกแยกภายในพรรค ก็เป็นสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้พรรคการเมืองขาดความเป็นสถาบันที่เข้มแข็งพอในพรรคแต่ละพรรคมีการแตกแยกกันสูง มีการแบ่งกลุ่มแบ่งพรรคแบ่งพวกสนับสนุนบางคนตามความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือมีผล ประโยชน์ร่วมกันอีกประการหนึ่งพรรคการเมืองไม่ได้มีการทำงานในฐานะพรรคอย่างต่อเนื่องและยืนยาว ถ้านับระยะเวลาที่พรรคการเมืองเริ่มก่อตั้ง เมื่อมีกฎหมายพรรคการเมือง คือ พ.ศ.2498 ปัจจุบันก็ประมาณ 40 ปีแต่ตลอดเวลานั้นพรรคการเมืองหาได้มีระยะเวลาดำเนินการอย่างต่อเนื่องไม่ เพราะมีการปฏิวัติรัฐประหารบ่อย ๆ ช่วงเวลาที่ถูกยกเลิกนานที่สุด คือช่วง พ.ศ.2501 ถึง 2511 เป็นเวลาถึง 10 ปี ประการสุดท้าย พรรคการเมืองยังไม่สามารถสร้างฐานมวลชนได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพพรรคขาดความเชื่อมโยงกับสมาชิกและมวลชน ประชาชนเลือกผู้แทนเป็นการส่วนตัวมากกว่าเลือกในนามพรรคเป็นต้น เหล่านี้คือสาเหตุที่ทำให้พรรคการเมืองขาดการทำงานให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้ดีพอ
                ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม  หมายถึง การมีส่วนร่วมในทางการเมืองการปกครอง ตลอดจนการกำหนดวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตย ทั้งนี้ไม่ว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิเสรีภาพ หน้าที่ ตามระบอบการเมืองการปกครองที่ไม่ไปก้าวก่ายหรือก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นหรือสังคมส่วนรวม การมีส่วนร่วมในทางการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอาจจะจำแนกเป็น 3 ระดับ คือ
                การมีส่วนร่วมในระดับเบื้องต้น เช่น ร่วมแสดงความคิดเห็นในทางการเมือง, ร่วมพูดคุยอภิปรายเรื่องราวทางการเมืองและสถานการณ์ปัจจุบัน, ร่วมลงชื่อเพื่อเสนอเรื่องราวหรือประชาพิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งในทางการเมือง, รวมกลุ่มเล็ก ๆ เพื่อแสดงความคิดเห็นในทางการเมือง, เป็นสมาชิกพรรคการเมือง
                การมีส่วนร่วมในระดับกลาง เช่น ร่วมเดินขบวนเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม, ร่วมปราศัยในการชุมนุมเรียกร้องเรื่องราว, ร่วมลงชื่อเพื่อเสนอให้ฝ่ายที่มีอำนาจตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง, ร่วมอดข้าวประท้วงหรือร่วมกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อเรียกร้อง
                การมีส่วนร่วมในระดับสูง เช่น ร่วมลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา, ร่วมก่อตั้งพรรคการเมือง, ร่วมก่อตั้งรัฐบาล
                ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิธีการกระจายอำนาจและทรัพยากรต่าง ๆ ที่ไม่เท่าเทียมกันอันมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและวิธีการที่ประชาเหล่านั้นมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจที่มีผลกระทบต่อตน
                โดยที่กล่าวถึงข้างต้น ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม จึงหมายถึง การที่อำนาจในการตัดสินใจไม่ควรเป็นของกลุ่มคนจำนวนน้อย แต่อำนาจควรไดรับการจัดสรรในระหว่างประชาชน เพื่อทุก ๆ คนได้มีโอกาสที่จะมีอิทธิพล และจัดเป็นกระจายอำนาจและเปิดต่อการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางของประชาชนในกระบวนการทางการเมือง ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
                จากคำนิยามดังกล่าวข้างต้นอาจสรุปหลักการหรือองค์ประกอบสำคัญของคำว่าประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมได้ ดังนี้
การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเมืองและการบริหาร
                เน้นการกระจายอำนายในการตัดสินใจและการจัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ ในระหว่างประชาชนให้เท่าเทียมกัน
                อำนาจในการตัดสินใจและการจัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ นั้น จะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
                เพิ่มการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
                มีความยืดหยุ่นได้ กล่าวคือ มีโครงสร้างการทำงานที่สามารถตรวจสอบได้ มีความโปร่งใสและคำนึงถึงความต้องการทรัพยากรของผู้มีส่วนร่วม
                การมีส่วนร่วมของประชาชนมีทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
แคทท์ (Catt 1999, 39-56) ได้เสนอไว้ว่า องค์ประกอบและเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดของความเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม คือ
                ทุกคนสามารถยกประเด็นปัญหาใดปัญหาหนึ่งขึ้นมา เพื่อกำหนดเป็นวาระของการประชุม สามารถเสนอทางเลือกและมีส่วนร่วมในการเลือกหรือการตัดสินใจสุดท้ายได้
                เป็นการประชุมที่ทุกคนสามารุพูดคุยกันได้อย่างทั่วถึง (face-to-face meeting)
                มีการปรึกษาหารือ หรืออภิปรายประเด็นปัญหาที่หยิบยกมาพิจารณากันอย่างกว้างขวาง ทุกคนต้องการมีส่วนร่วมในการอภิปราย และสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่
                มีแนวโน้มที่พยายามจะให้เกิดความเห็นพ้อง (consensus) ร่วมกันในประเด็นปัญหาที่พิจารณา
                การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นกระบวนการซึ่งประชาชน หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีโอกาสแสดงทัศนะและเข้าร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งมีการนำความคิดเห็นดังกล่าวไปประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายและการตัดสินใจของรัฐ การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นกระบวนการสื่อสารในระบบเปิด กล่าวคือ เป็นการสื่อสารสองทาง ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ซึ่งประกอบไปด้วยการแบ่งสรรข้อมูลร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนเสียและเป็นการเสริมสร้างความสามัคคีในสังคม ทั้งนี้เพราะการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นการเพิ่มคุณภาพของการตัดสินใจการลดค่าใช้จ่ายและการสูญเสียเวลา เป็นการสร้างฉันทามติ และทำให้ง่ายต่อการนำไปปฏิบัติ อีกทั้งช่วยหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าใน กรณีที่ร้ายแรงที่สุดช่วยให้เกิดความน่าเชื่อถือและความชอบธรรมและช่วยให้ทราบความห่วงกังวลของประชาชนและค่านิยมของสาธารณชน รวมทั้งเป็นการพัฒนาความเชี่ยวชาญและความคิดสร้างสรรค์ของของสาธารณชน
                การมีส่วนร่วมของประชาชนมีความสำคัญในการสร้างประชาธิปไตยอย่างยั่งยืนและส่งเสริมธรรมาภิบาล ตลอดจนการบริหารงานหากมีการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้นเพียงใดก็จะให้มีการตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารและให้ผู้บริหารที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการป้องกันนักการเมืองจากการกำหนดนโยบายที่ไม่เหมาะสมกับสังคมนั้น ๆ นอกจากนี้การมีส่วนร่วมของประชาชนยังเป็นการสร้างความมั่นใจว่าเสียงของประชาชนจะมีคนรับฟัง อีกทั้งความต้องการหรือความปรารถนาประชาชนก็จะได้รับการตอบสนอง
                กล่าวโดยสรุป ระบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงทัศนะและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ที่จะมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน นอกจากจะช่วยให้การตัดสินใจของผู้เสนอโครงการหรือรัฐบาลมีความรอบคอบ และสอดรับกับปัญหาและความต้องการของประชาชนมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังเป็นการควบคุมการบริหารงานของรัฐบาลให้มีความโปร่งใส (Transparency) ตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของประชาชน (Responsiveness) และมีความรับผิดชอบหรือสามารถตอบคำถามของประชาชนได้ (Accountability) อีกด้วย ซึ่งเท่ากับเป็นการส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นอีกด้วย