https://www.mediafire.com/?4glc9kulh5uzcu2
การเกิดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามัน
เดิมเคยเชื่อกันว่าในบริเวณมหาสมุทรอินเดียคงจะไม่มีปรากฏการณ์คลื่นสึนามิที่รุนแรงเกิดขึ้น
เพราะถึงแม้ว่าทางด้านตะวันออกของทะเลอันดามันจะเป็นแนวรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกอินเดีย (Indian Plate) กับแผ่นเปลือกโลกยูเรเชีย
(Eurasian Plate) และมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นบ่อยครั้งก็ตาม
แต่ก็ไม่เคยมีคลื่นสึนามิที่ทำลายชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
จนเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ.
๒๕๔๗ ได้เกิดคลื่นสึนามิครั้งที่รุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์
มีผู้คนเสียชีวิตถึงประมาณ ๒๒๐,๐๐๐ คน นับเป็นภัยทางธรรมชาติที่มีผู้เสียชีวิตมากเป็นอันดับ ๓
ของโลกเท่าที่มีการบันทึกไว้ โดยภัยธรรมชาติที่มีผู้เสียชีวิตมากเป็นอันดับ ๑
เกิดจากพายุไซโคลนพัดผ่านประเทศบังกลาเทศ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ มีผู้เสียชีวิตประมาณ
๓๐๐,๐๐๐ คน และภัยทางธรรมชาติที่มีผู้เสียชีวิตมากเป็นอันดับ
๒ เกิดจากแผ่นดินไหวทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ มีผู้เสียชีวิตประมาณ ๒๕๕,๐๐๐ คน
คลื่นสึนามิดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นที่จุดกำเนิดของแผ่นดินไหวนอกชายฝั่งด้านตะวันตกของหัวเกาะสุมาตราในประเทศอินโดนีเซีย
แล้วเคลื่อนตัวแผ่ขยายไปทั่วทะเลอันดามัน
จนถึงชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอินเดียและเกาะศรีลังกา
บางส่วนของคลื่นยังเคลื่อนตัวไปถึงชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกาด้วย
รวมประเทศที่ประสบภัยจากคลื่นสึนามิ และมีผู้เสียชีวิตในครั้งนั้น ๑๑ ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย พม่า อินเดีย
บังกลาเทศ ศรีลังกา มัลดีฟส์ โซมาเลีย
แทนซาเนีย และเคนยา ในกรณีของประเทศไทย
พิบัติภัยจากคลื่นสึนามิได้ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชนทั่วทั้งประเทศ
เพราะมีการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนเป็นจำนวนมากใน ๖
จังหวัดภาคใต้ที่มีพื้นที่อยู่ติดกับชายฝั่งทะเลอันดามัน คือ ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล
โดยเฉพาะที่จังหวัดพังงา กระบี่ และภูเก็ต มีการสูญเสียมากที่สุด
เป็นพิบัติภัยทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็ว
โดยไม่มีผู้ใดคาดคิดมาก่อน จึงไม่ได้มีการระมัดระวังและป้องกันไว้ล่วงหน้า
ลำดับเหตุการณ์ของการเกิดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามัน เมื่อวันที่
๒๖ ธันวาคม พ.ศ.
๒๕๔๗ มีดังนี้
- เวลา ๐๗.๕๙ น. ตามเวลาในประเทศไทย ได้เกิดแผ่นดินไหว
มีศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณนอกฝั่งด้านตะวันตกทางตอนเหนือของหัวเกาะสุมาตรา
ประเทศอินโดนีเซีย ที่ละติจูด ๓.๓ องศาเหนือ ลองจิจูด ๙๕.๘ องศาตะวันออก
ลึกลงไปในแผ่นดินประมาณ ๓๐ กิโลเมตร มีขนาดความรุนแรง ๙.๐ ตามมาตราริกเตอร์
นับเป็นแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในทะเลอันดามัน
และรุนแรงมากเป็นอันดับ ๕ ของโลก นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมา
- หลังจากเกิดแผ่นดินไหวไม่นาน
ได้เกิดคลื่นสึนามิเคลื่อนตัวเข้าสู่ฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือสุดของเกาะสุมาตรา
ในจังหวัดอาเจะห์
ความสูงและความรุนแรงของคลื่นทำให้เมืองและชุมชนตามชายฝั่งถูกทำลายอย่างกว้างขวาง
มีผู้เสียชีวิตรวมกันทั้งหมดมากกว่า ๑๕๐,๐๐๐ คน
บริเวณที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดอยู่ที่เมืองบันดาอาเจะห์ (Banda Ajeh) ซึ่งเป็นเมืองหลักของจังหวัด รองลงมาคือ ที่เมืองเมอลาโบะห์ (Meulaboh)
ซึ่งเป็นเมืองชายทะเลอยู่ไปทางใต้ของเมืองบันดาอาเจะห์
นับเป็นการสูญเสียชีวิตของผู้คนจากภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย
- เวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น.
คลื่นสึนามิได้เริ่มเคลื่อนตัวมายังชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมลายู
ซึ่งอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวประมาณ ๕๐๐ - ๖๐๐ กิโลเมตร
ก่อให้เกิดความเสียหายในบริเวณชายฝั่งตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย และภาคใต้ของไทย
มีผู้เสียชีวิตที่เกาะปีนังในประเทศมาเลเซียประมาณ ๗๐ คน และใน ๖
จังหวัดภาคใต้ของไทย คือ จังหวัดสตูล
ตรัง กระบี่ พังงา ภูเก็ต และระนอง รวมกันประมาณ ๕,๔๐๐ คน
- คลื่นสึนามิส่วนหนึ่งเคลื่อนตัวต่อขึ้นไปทางเหนือจนถึงชายฝั่งของประเทศพม่า
และประเทศบังกลาเทศ ซึ่งอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวประมาณ ๑,๕๐๐ - ๑,๗๐๐ กิโลเมตร
มีผู้เสียชีวิตที่บริเวณปากแม่น้ำอิรวดีของประเทศพม่า ประมาณ ๖๐ คน
ส่วนในประเทศบังกลาเทศมีรายงานผู้เสียชีวิต ๒ คน
- คลื่นสึนามิส่วนที่เคลื่อนตัวจากเกาะสุมาตรามุ่งไปทางตะวันตก
เคลื่อนที่ผ่านหมู่เกาะอันดามันและหมู่เกาะนิโคบาร์
ซึ่งเป็นดินแดนของประเทศอินเดียกลางทะเลอันดามัน
จากนั้นเคลื่อนตัวต่อไปถึงชายฝั่งของรัฐทมิฬนาฑู และทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอินเดีย
รวมทั้งบริเวณชายฝั่งตะวันออกของประเทศศรีลังกา ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ทางใต้ของอินเดีย
มีผู้เสียชีวิตที่หมู่เกาะอันดามันและหมู่เกาะนิโคบาร์ประมาณ ๙๐๐ คน
และที่รัฐทมิฬนาฑูประมาณ ๘,๐๐๐
คนซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่เมืองนาคาปัตตินัม (Nagapattinum) ส่วนในประเทศศรีลังกามีผู้เสียชีวิตประมาณ ๔๐,๐๐๐ คน
- ต่อจากประเทศศรีลังกา
คลื่นสึนามิได้เคลื่อนตัวผ่านมหาสมุทรอินเดียไปถึงหมู่เกาะมัลดีฟส์
ซึ่งเป็นประเทศเล็กๆ ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย
ห่างจากเกาะศรีลังกาไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๖๕๐ กิโลเมตร
เนื่องจากประเทศนี้มีภูมิประเทศที่เป็นหมู่เกาะปะการังเตี้ยๆ
จึงได้รับความเสียหายมาก มีรายงานผู้เสียชีวิตประมาณ ๘๒ คน
- คลื่นสึนามิส่วนหนึ่งยังคงเคลื่อนตัวต่อไปจนถึงชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา
ซึ่งอยู่ห่างจากจุดกำเนิดแผ่นดินไหวประมาณ ๕,๕๐๐ กิโลเมตร
แม้จะอ่อนกำลังบ้างแล้วแต่ก็ทำความเสียหายให้แก่บริเวณชายฝั่งของประเทศโซมาเลีย และประเทศเคนยาได้มากพอสมควร
มีผู้เสียชีวิตที่ประเทศโซมาเลีย ประมาณ ๓๐๐ คน
และที่ประเทศเคนยา ๑ คน
นักธรณีวิทยาให้ความเห็นว่า คลื่นสึนามิ ที่เกิดขึ้นในทะเลอันดามันครั้งนี้
มีสาเหตุมาจากแผ่นเปลือกโลกอินเดียขยับตัวเลื่อนมาทางทิศตะวันออก
และมุดลงใต้ขอบแผ่นเปลือกโลกยูเรเชีย
ทำให้เกิดแผ่นดินไหวตามแนวรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก ซึ่งมีลักษณะเป็นรอยเลื่อน (fault)
ขนาดใหญ่เป็นแนวยาวตั้งแต่ทางตะวันออกของพม่าและตะวันตกของไทย
ลงไปตามแนวของหมู่เกาะอันดามัน และหมู่เกาะนิโคบาร์ จนถึงทางเหนือของเกาะสุมาตรา
และเนื่องจากแผ่นดินไหวมีความรุนแรงมากถึงระดับ ๙.๐ ตามมาตราริกเตอร์
จึงเกิดเป็นคลื่นสึนามิแผ่ขยายออกไปโดยรอบในทะเลอันดามันและบางส่วนของมหาสมุทรอินเดียดังกล่าวแล้ว
000000000000000000000000
คลื่นสึนามิ (ญี่ปุ่น: 津波 tsunami
สึนะมิ, "คลื่นที่ท่าเรือ" หรือ
"คลื่นชายฝั่ง" ?) เป็นกลุ่มคลื่นน้ำที่เกิดขึ้นจากการย้ายที่ของปริมาตรน้ำก้อนใหญ่
คือ มหาสมุทรหรือทะเลสาบขนาดใหญ่ แผ่นดินไหว
การปะทุของภูเขาไฟและการระเบิดใต้น้ำอื่น
(รวมทั้งการจุดระเบิดวัตถุระเบิดนิวเคลียร์ใต้น้ำ) ดินถล่ม ธารน้ำแข็งไถล
อุกกาบาตตกและการรบกวนอื่น ไม่ว่าเหนือหรือใต้น้ำ
ล้วนอาจก่อให้เกิดเป็นคลื่นสึนามิได้ทั้งสิ้น[1]
คลื่นสึนามิไม่เหมือนกับคลื่นทะเลตามปกติ
เพราะมีความยาวคลื่นยาวกว่ามาก แทนที่จะเป็นคลื่นหัวแตก (breaking wave) ตามปกติ คลื่นสึนามิเริ่มแรกอาจดูเหมือนกับว่าคลื่นน้ำเพิ่มระดับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
และด้วยเหตุนี้ คลื่นสึนามิจึงมักเรียกว่าเป็นคลื่นยักษ์ (tidal wave) โดยทั่วไป
คลื่นสึนามิประกอบด้วยกลุ่มคลื่นซึ่งมีคาบเป็นนาทีหรืออาจมากถึงชั่วโมง
มากันเรียกว่าเป็น "คลื่นขบวน" (wave train)[2] ความสูงของคลื่นหลายสิบเมตรนั้นอาจเกิดขึ้นได้จากเหตุการณ์ขนาดใหญ่
แม้ผลกระทบของคลื่นสึนามินั้นจะจำกัดอยู่แค่พื้นที่ชายฝั่ง
แต่อำนาจทำลายล้างของมันสามารถมีได้ใหญ่หลวงและสามารถมีผลกระทบต่อทั้งแอ่งมหาสมุทร
คลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย พ.ศ. 2547
เป็นหนึ่งในภัยธรรมชาติครั้งที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
โดยมีผู้เสียชีวิตกว่า 230,000 คน ใน 14 ประเทศที่ติดกับมหาสมุทรอินเดีย
ธูซิดดิดีส นักประวัติศาสตร์ชาวกรีก เสนอเมื่อ 426
ปีก่อนคริสตกาล ว่า คลื่นสึนามิเกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหวใต้ทะเล[3][4]
แต่ความเข้าใจในธรรมชาติของคลื่นสึนามิยังมีเพียงเล็กน้อยกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่
20 และยังมีอีกมากที่ยังไม่ทราบในปัจจุบัน
ขอบเขตการวิจัยในปัจจุบันส่วนใหญ่รวมไปถึงความพยายามค้นหาความจริงว่าเหตุใดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่บางครั้งจึงไม่ก่อให้เกิดคลื่นสึนามิ
ขณะที่แผ่นดินไหวที่รุนแรงน้อยกว่ามากกลับก่อให้เกิดคลื่น
พยายามพยากรณ์เส้นทางของคลื่นสึนามิข้ามมหาสมุทรอย่างแม่นยำ
และยังพยากรณ์ว่าคลื่นสึนามิจะมีปฏิสัมพันธ์กับชายฝั่งแห่งหนึ่ง ๆ อย่างไร
00000000000000000000
ลักษณะของคลื่น
ลักษณะการเกิดของสึนามิ
คลื่นสึนามิแตกต่างจากคลื่นน้ำธรรมดามาก
ตัวคลื่นนั้นสามารถเดินทางได้เป็นระยะทางไกล โดยไม่สูญเสียพลังงาน
และสามารถเข้าทำลายชายฝั่งที่อยู่ห่างไกลจากจุดกำเนิดหลายพันกิโลเมตรได้
โดยทั่วไปแล้วคลื่นสึนามิซึ่งเป็นคลื่นในน้ำ
จะเดินทางได้ช้ากว่าการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวที่เป็นคลื่นที่เดินทางในพื้นดิน ดังนั้น
คลื่นอาจเข้ากระทบฝั่งภายหลังจากที่ผู้คนบริเวณนั้นรู้สึกว่าเกิดแผ่นดินไหวเป็นเวลาหลายชั่วโมง[ต้องการอ้างอิง]
คลื่นโดยทั่วไปจะมีคุณสมบัติสำคัญที่วัดได้อยู่สองประการคือ
คาบ ซึ่งจะเป็นเวลาระหว่างลูกคลื่นสองลูก และ ความยาวคลื่น
ซึ่งเป็นระยะห่างระหว่างลูกคลื่นสองลูก ในทะเลเปิด[ต้องการอ้างอิง]
คลื่นสึนามิมีคาบที่นานมาก โดยเริ่มจากไม่กี่นาทีไปจนเป็นชั่วโมง
ในขณะเดียวกันก็มีความยาวคลื่นที่ยาวมาก โดยอาจยาวถึงหลายร้อยกิโลเมตร
ในขณะที่คลื่นทั่วไปที่เกิดจาก ลมที่ชายฝั่งนั้นมีคาบประมาณ 10 วินาที และมีความยาวคลื่นประมาณ 150 เมตรเท่านั้น
ความสูงของคลื่นในทะเลเปิดมักน้อยกว่าหนึ่งเมตร[ต้องการอ้างอิง]
ซึ่งทำให้ไม่เป็นที่สังเกตของผู้คนบนเรือ
คลื่นสึนามิจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วตั้งแต่ 500 ถึง 1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ชายฝั่งที่มีความลึกลดลง
คลื่นจะมีความเร็วลดลงและเริ่มก่อตัวเป็นคลื่นสูง โดยอาจมีความสูงมากกว่า 30 เมตร[ต้องการอ้างอิง]
คลื่นสึนามิจะเคลื่อนตัวออกจากแหล่งกำเนิด
ดังนั้น ชายฝั่งที่ถูกกำบังโดยแผ่นดินส่วนอื่นๆ มักปลอดภัยจากคลื่น อย่างไรก็ตาม
ยังมีโอกาสที่คลื่นจะสามารถเลี้ยวเบนไปกระทบได้ นอกจากนี้
คลื่นไม่จำเป็นต้องมีความแรงเท่ากันในทุกทิศทุกทาง
โดยความแรงจะขึ้นกับแหล่งกำเนิดและลักษณะของภูมิประเทศแถบนั้น[ต้องการอ้างอิง]
คลื่นจะมีพฤติกรรมเป็น
"คลื่นน้ำตื้น"
เมื่ออัตราส่วนระหว่างความลึกของน้ำและขนาดของคลื่นนั้นมีค่าต่ำ ดังนั้น
เนื่องจากมีขนาดของคลื่นที่สูงมาก
คลื่นสึนามิจึงมีคุณสมบัติเป็นคลื่นน้ำตื้นแม้อยู่ในทะเลลึกก็ตาม
คลื่นน้ำตื้นนั้นมีความเร็วเท่ากับรากที่สองของผลคูณระหว่างความเร่งจากสนามแรงโน้มถ่วง
(9.8 เมตร/วินาที2) และความลึกของน้ำ
ตัวอย่างเช่น ในมหาสมุทรแปซิฟิกที่มีความลึกประมาณ 4,000 เมตร คลื่นจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ 200 เมตรต่อวินาที
หรือ 720 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนที่ชายฝั่งที่มีความลึก 40 เมตร คลื่นจะมีความเร็วช้าลงเหลือ 20 เมตรต่อวินาที หรือ
72 กิโลเมตรต่อชั่วโมง