ท่องเที่ยว บันเทิง สาระความรู้

ศิลปวัฒนธรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์



ศิลปวัฒนธรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น   
                ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น นับว่าเป็นการสืบสานวัฒนธรรมไทยเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาให้กลับมาเจริญ รุ่งเรืองขึ้นใหม่ นอกจากนี้ก็มีการปรับปรุงเพิ่มเติมสิ่งใหม่ๆ ให้วัฒนธรรมไทยในยุคนี้ด้วย นับได้ว่าเป็นการธำรงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมไทยที่มีมาแต่อยุธยาให้กลับเจริญ รุ่งเรือง หลังจากประสบกับวิกฤตการณ์สงครามสู้รบระหว่างไทยกับพม่ามาแล้ว
                สภาพทางสังคมของไทยตั้งแต่อดีต ได้ผูกพันกับพระพุทธศาสนามาโดยตลอด ความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมจึงมีส่วนสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความเจริญ รุ่งเรืองทางศาสนาด้วย ศิลปกรรมและวรรณกรรมต่างๆ ที่บรรจงสร้างด้วยความประณีตก็เกิดจากแรงศรัทธาทางศาสนาทั้งสิ้น
1. การทำนุบำรุงทางด้านพระพุทธศาสนา
                ในสมัยรัชกาลที่ 1 (พ.ศ.2325-2352) พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯให้ทำการสังคายนาพระไตรปิฏกที่วัดมหาธาตุยุวราชรัง สฤษดิ์ ใน พ.ศ.2331 โดยใช้เวลาประชุมกันประมาณ 5 เดือน
                ในสมัยรัชกาลที่ 2 (พ.ศ.2352-2367) พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระราชกุศลอย่างใหญ่โตในวันวิสาขบูชา เหมือนดังที่เคยทำกันในสมัยอยุธยา คือ ทำบุญกันทั่วไปเป็นเวลา 3 วัน สัตว์ที่เคยถูกฆ่าเป็นอาหารนั้นโปรดให้ปล่อยให้หมดภายใน 3 วัน มิให้มีการฆ่าสัตว์โดยเด็ดขาด
                ในสมัยรัชกาลที่ 3 (พ.ศ.2367-2394) พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมาก พระองค์ทรงทำนุบำรุงคณะสงฆ์ ตลอดจนทรงสร้างและปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปและวัดวาอารามมากมาย ในสมัยนี้ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกและนิกายโปรเตสแตนต์ได้มีโอกาสเผยแผ่ ในประเทศไทยโดยพวกมิชชันนารี ทำให้คนไทยบางส่วนหันไปนับถือศาสนาคริสต์ ขณะเดียวกันในวงการพระพุทธศาสนาของไทยก็มีการเคลื่อนไหวที่จะปฏิรูปข้อ วัตรปฏิบัติของคณะสงฆ์ไทยให้สอดคล้องกับคำสอนในพระไตรปิฏก โดยเจ้าฟ้ามงกุฏ ซึ่งทรงผนวชมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 และได้เสด็จมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร (พ.ศ.2370-2394) ทรงเป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในการปฏิรูปครั้งนั้น จนกระทั่งได้ทรงตั้งนิกายใหม่ เรียกว่า "ธรรมยุติกนิกาย"

2. การทำนุบำรุงศิลปกรรม
                ที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เองตลอดทั้งเรื่อง ส่วนอีก 6 เรื่อง โปรดเกล้าฯ ให้กวีท่านอื่นๆ ร่วมงานด้วยการทำนุบำรุงด้านศิลปกรรมในสมัยรัชกาลที่ 1 ในบรรดาศิลปกรรมของไทยซึ่งรัชกาลที่ 1 ทรงให้ความสนพระทัยมากนั้น ได้แก่ บรรดาตึกรามต่างๆ ที่สร้างขึ้น ล้วนมีการตกแต่งลวดลายอย่างงดงามทั้งภายในและภายนอก ทั้งโดยปูนและโดยไม้แกะสลัก ตึกที่ทรงให้จัดสร้างขึ้นส่วนมากเป็นวัด เช่น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นต้น นอกจากนี้ก็มีพระที่นั่งต่างๆ เช่น พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย, พระที่นั่งไพศาลทักษิณ, พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน, พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นต้น
                รัชกาลที่ 1 ทรงสนพระทัยทางด้านวรรณคดี ดังนั้นในสมัยนี้จึงมีบทวรรณคดีที่สำคัญหลายเรื่อง เช่น รามเกียรติ์ นอกจากนี้ก็มีการแปลวรรณกรรมต่างชาติมาเป็นภาษาไทย เช่น หนังสือสามก๊ก ,ราชาธิราช เป็นต้น
                การทำนุบำรุงด้านศิลปกรรมในสมัยรัชกาลที่ 2 ทรงสนพระทัยในเรื่องการก่อสร้างและตกแต่งตึกรามต่างๆ พระองค์โปรดเกล้าฯให้สร้าง "สวนขวา" ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ทรงริเริ่มสร้างพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม (แต่สร้างสำเร็จเรียบร้อยในสมัยรัชกาลที่ 3) พระปรางค์จะตกแต่งด้วยถ้วยและชามจีนซึ่งทุบให้แตกบ้าง แล้วติดกับฝาทำเป็นลวดลายรูปต่าง ๆ เช่น ดอกไม้ พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถทางด้านการแกะสลัก ดังจะเห็นได้จากประตูวัดพระเชตพนวิมลมังคลาราม ประตูวัดสุทัศน์เทพวราราม เป็นต้น
                รัชกาลที่ 2 โปรดการฟ้อนรำอย่างโบราณของไทยเป็นอันมาก ทั้งโขนและละคร ทรงปรับปรุงจังหวะและท่ารำต่างๆ โดยพระองค์เอง พระองค์โปรดให้มีพระราชนิพนธ์บทละครขึ้นใหม่ ทั้งที่เป็นเรื่องเดิมและเรื่องใหม่ หรือเอาเรื่องเดิมมาแต่งขึ้นใหม่ บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 มีทั้งหมด 7 เรื่อง เรื่อง"อิเหนา" เป็นเรื่อง
                การทำนุบำรุงด้านศิลปกรรมในสมัยรัชกาลที่ 3 การผลิตงานทางด้านศิลปะในสมัยรัชกาลที่ 3 จัดว่ามีลักษณะเยี่ยมยอดในวงการศิลปะของไทยไม่แพ้ในสมัยอื่น ในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงมุ่งซ่อมแซมและปรับปรุงปราสาทมากกว่าจะสร้างใหม่ โดยระมัดระวังรักษาแบบดั้งเดิมเอาไว้ พระองค์ทรงปฏิสังขรณ์และขยายเขตวัดวาอารามมากมาย ทรงสร้างวัดด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ขึ้น 5 วัด ให้เชื้อพระวงศ์และขุนนางสร้างอีก 6 วัด วัดสำคัญที่สร้างในสมัยนี้ได้แก่ วัดเทพธิดาราม,วัดราชนัดดา,วัดเฉลิมพระเกียรติ์,วัดบวรนิเวศวรวิหาร,วัดบวร สถาน,วัดประยูรวงศ์,วัดกัลยาณมิตร เป็นต้น สิ่งก่อสร้างมากมายที่เป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมทางศาสนาของไทย เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ พระสถูป พระมลฑป หอระฆัง เป็นต้น โบสถ์และวิหารที่สร้างขึ้นมีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีหลังคาลาดเป็นชั้น มุงกระเบี้องสี ผนังก่ออิฐถือปูนประดับลวดลาย และมีเสาใหญ่รายรอบรับชายคา โบสถ์ขนาดใหญ่และสวยงามที่สร้างในรัชกาลนี้คือ โบสถ์วัดสุทัศน์เทพวราราม ซึ่งสร้างแบบสามัญ ส่วนโบสถ์วัดบวรนิเวศวรวิหารสร้างเป็นแบบมีมุขยื่นออกมาทั้งสองข้างทางด้าน ปลาย
        สถาปัตยกรรมแบบไทยอย่างอื่นๆ ที่มีความสำคัญรองลงมา คือ พระมณฑป ศาลา หอระฆัง และระเบียงโบสถ์ สิ่งก่อสร้างเหล่านี้มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 และเป็นงานที่ดีที่สุด คือ ระเบียงรอบพระวิหารที่วัดสุทัศน์เทพวราราม ซึ่งมีหน้าบันแกะสลักไว้อย่างงดงาม
                ผลงานทางสถาปัตยกรรมอีกอย่างหนึ่งที่ได้ก่อสร้างไว้บริเวณวัด และจัดอยู่ในจำพวกสิ่งก่อสร้างปลีกย่อยคือ เรือสำเภาซึ่งก่อด้วยอิฐ รัชกาลที่ 3 ทรงมีรับสั่งให้สร้างขึ้นเพื่อว่าในอนาคตเมื่อไม่มีการสร้างเรือสำเภากันอีก แล้ว ประชาชนจะได้แลเห็นว่าเรือสำเภานั้นมีรูปร่างลักษณะเป็นอย่างไร วัดที่พระองค์ทรงรับสั่งให้สร้างสิ่งอันเป็นประวัติศาสตร์นี้ คือ "วัดยานนาวา"
                 ในสมัยรัชกาลที่ 3 ภาพเขียนแบบไทยต่างๆ ส่วนมากไม่โดดเด่น ที่เขียนขี้นมาส่วนใหญ่เพื่อความมุ่งหมายในการประดับให้สวยงามเท่านั้น ส่วนงานช่างแกะสลักในสมัยรัชกาลที่ 3 ก็เกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางพระพุทธศาสนามากกว่างานช่างในสาขาจิตรกรรม โดยเฉพาะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเครื่องบันดาลใจอันสำคัญยิ่งที่ก่อให้เกิดผลงานทางด้านศิลปะประเภทนี้
                ทางด้านวรรณกรรม รัชกาลที่ 3 ทรงสนับสนุนวรรณคดีทางศาสนาและประวัติศาสตร์ ดังเช่น หนังสือเรื่อง "มลินทปัญญา" เป็นต้น แต่ในสมัยนี้ไม่สนับสนุนให้มีการแสดงละครภายในพระบรมมหาราชวัง ทั้งยังไม่โปรดปรานนักแสดงหรือนักประพันธ์คนใดเลย
                กล่าวโดยสรุป ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น การทำนุบำรุงและฟื้นฟูทางด้านศิลปวัฒนธรรมได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 3 และการทำนุบำรุงก็กระทำโดยวิธีรักษารูปแบบเดิมไว้ตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ในขณะเดียวกันก็เพิ่มเติมสิ่งใหม่ๆ ผสมผสานเข้าไปด้วย ทำให้ศิลปวัฒนธรรมของไทยในยุคนี้เจริญรุ่งเรืองมาก

เสื้อผ้า สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๔๕๓)
         
การ ใช้ผ้าเป็นเครื่องแต่งกายนั้น เดิมครั้งกรุงศรีอยุธยา คงมีอยู่ระยะหนึ่งที่มีระเบียบเคร่งครัดว่าคนชั้นไหนใช้ผ้าชนิดใดได้บ้าง หรือชนิดไหนใช้ไม่ได้ ต่อมาระเบียบนี้ละเว้นไปไม่เคร่งครัดจึงปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ โปรดให้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการแต่งกายการใช้ผ้าบังคับและห้ามไว้ใหม่อีก ครั้งหนึ่ง ดังความปรากฏว่า "...ธรรมเนียม แต่ก่อนสืบมา จะนุ่งผ้าสมปักท้องนาก  และใส่เสื้อครุยกรองคอ กรองต้นแขน กรองปลายแขน จะคาดรัดประคดหนามขนุนได้แต่มหาดไทย กลาโหม จตุสดมภ์ และแต่งบุตรแลหลานขุนนาง ผู้ใหญ่ผู้น้อยได้แต่เสมา แลจี้ภควจั่นจำหลักประดับพลอย แต่เพียงนี้ และทุกวันนี้ข้าราชการผู้น้อยนุ่งห่มมิได้ทำตามอย่างธรรมเนียมแต่ก่อน ผู้น้อยก็นุ่งสม ปักปูมท้องนาก ใส่เสื้อครุยกรองคอ กรองสังเวียน กรองสมรด คาดรัดประคดหนามขนุน กั้นร่มผ้าสีผึ้งกลตาไปจนตำรวจเลว แลลูกค้าวณิชกั้นร่มสีผึ้ง แล้วแต่งบุตรหลานเล่า ผูกลูกประหล่ำ จำหลักประดับพลอยแลจี้กุดั่นประดับพลอย เพชรถมยา ราชาวดี ใส่เกี้ยวมีกระจังประจำยามสี่ทิศ ผูกภควจั่นถมยาประดับเพชรประดับพลอย สายเข็มขัดมีดอกประจำยาม เข้าอย่างต้องห้าม เกินบรรดาศักดิ์ผิดอยู่ แต่นี้สืบไปเมื่อหน้าให้ข้าราชการแลราษฎรทำตามอย่างธรรมเนียมแต่ก่อน"
          "ครั้งนี้โปรดเกล้าฯ ให้แต่ขุนนางผู้ใหญ่กั้นร่มผ้าสีผึ้ง คาดรัดประคดหนามขนุน ห้ามอย่าให้ข้าราชการผู้น้อยใส่เสื้อครุย กรองคอ กรองสังเวียน กรองสมรด คาดรัดประคดหนามขนุนนุ่งสมปักท้องนาก สายเข็ดขัดอย่าให้มีดอกประจำยาม  กั้นร่มผ้าสีผึ้ง ใส่เสื้อครุย ได้แก่กรองปลายมือจะแต่งบุตรแลหลาน ก็ให้ใส่แต่จี้เสมาภควจั่นจำหลักประดับพลอยแดงเขียวแต่เท่านี้ อย่าได้ประดับเพชรถมยาราชาวดี ลูกประหล่ำเล่าก็ให้ใส่แต่ลายแทงแลเกลี้ยง เกี้ยวอย่าให้มีกระจังประจำยามสี่ทิศ และอย่าให้ใส่กระจับปิ้งพริกเทศทองคำกำไลทองคำใส่เท้า อย่าให้ข้าราชการผู้น้อย  และราษฎรกั้นร่มผ้าสีผึ้ง และกระทำให้ผิดด้วยอย่างธรรมเนียมเกินบรรดาศักดิ์เป็นอันขาดทีเดียว และห้ามอย่าให้ช่างทองทั้งปวงรับจ้างทำจี้เสมาภควจั่นประดับเพชร ถมยาราชวดีประดับพลอย ห้ามมิให้ซื้อขายเป็นขาดทีเดียว..."
          ด้วยเหตุนี้จะเห็นได้ว่า การใช้ผ้าก็ดี เครื่องประดับก็ดี ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นการใช้ตามฐานะรวมถึงบรรดาศักดิ์ ตามตำแหน่งหน้าที่การงานและตามสกุล ผ้าในสมัยนี้คงใช้สืบต่อแบบเดียวกับที่ใช้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และคงจะเพิ่มขึ้นใหม่อีกด้วย สมัยรัตนโกสินทร์มีผ้าต่างๆ เหมือนครั้งกรุงศรีอยุธยา คือ ส่วนหนึ่งเป็นผ้าทอในประเทศ อีกส่วนหนึ่งเป็นผ้าสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ  ผ้าไทย  ได้แก่  ผ้ายก ผ้าไหมผ้าสมปัก ผ้ายกทองระกำไหม สมัยรัชกาลที่ ๒มีผ้าลายซึ่งเจ้านายและคนสามัญนิยมใช้ จะต่างกันตรงที่ลวดลายว่าเป็นลายอย่างหรือผ้าลายนอกอย่าง (ผ้าซึ่งคนไทยเขียนลวดลายเป็นแบบอย่าง ส่งไปพิมพ์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะอินเดีย) ถ้าเป็นของเจ้านายชั้นสูง ผ้าลายมักจะเขียนลายด้วยสีทองเรียกว่า ผ้าลายเขียนทอง ซึ่งใช้ได้เฉพาะระดับพระเจ้าแผ่นดินถึงพระองค์เจ้าเท่านั้น ผ้าชนิดนี้นิยมใช้เช่นเดียวกับผ้ายก
          ผ้าที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของพวกเจ้านายคือผ้าใยบัว ผ้ากรองทอง และผ้าโขมพัสตร์ พวกชาวบ้านทั่วไป มักจะใช้ผ้าตาบัวปอก ผ้าดอกส้มดอกเทียน ผ้าเล็ดงา ผ้าตามะกล่ำ ผ้าตาสมุกผ้าไหมมีหลาชนิด เช่น ผ้าไหมตาตาราง ผ้าไหม ตะเภา การเพิ่มความงามให้แก่เสื้อผ้าที่ใช้ นอกจากปักไหมเป็นลวดลายต่างๆ แล้ว ก็มีการปักด้วยทองเทศ ปักด้วยปีกแมลงทับซึ่งใช้ปักทั้งบนผ้าทรงสะพัก ผ้าสมรดหรือผ้าคาดเอวและเชิงสนับเพลาของเจ้านายผู้ชาย
          ในรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ นักเลงห่มแพรเพลาะดำย้อมมะเกลือ คนมีเงินก็ใช้แพรจีนสีต่างๆ สองชั้น สีนวลอยู่ข้างใน ริมขลิบลูกไม้มุมติดพู่ เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ยังนิยมทรงผ้าลายอย่างผ้าตาด พวกข้าราชการนุ่งปูมอย่างเขมร ถือว่าเป็นดีที่สุด นุ่งสมปักตามยศ ถ้าในพระราชพิธีถือน้ำ เจ้านายทรงผ้าลายพื้นขาวเขียนทองบ้าง ลายเปล่าบ้าง ยกทองขาวเชิงชายบ้าง ฉลองพระองค์กระบอกผ้าขาว ต่อมาเปลี่ยนเป็นผ้าปักทองแล่ง
          นอกจากนี้มีผ้าหิ่งห้อย ผ้าอุทุมพร ผ้าสังเวียน ซึ่งยังไม่อาจทราบได้ว่ามีลักษณะอย่างไร ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ประกาศการแต่งตัวในสมัยของพระองค์ ทำให้ทราบว่า "..ธรรมเนียมข้าราชการ นุ่งสมปักปูม ปักเชิง ปักล่องจวน ปักริ้ว เข้าเฝ้านั้น ก็เป็นธรรมเนียนมาแต่โบราณ แต่ข้าราชการปลงใจเสียว่าเป็นผ้าหลวง ได้มาอย่างไรก็ใช้ไปอย่างนั้น หาใคร่เอาใจใส่บำรุงให้สะอาดไม่ เหม็นสาบสางเปื้อนเปรอะขะมุกขะมอม และฉีกขาดก็ใช้นุ่งมาเฝ้าไม่เป็นที่เจริญพระเกียรติ..."ผ้าสมปักปูมเขมร สร้างมาแต่เมืองเขมร ส่วนมากเรียกว่า ปูมเขมร ที่เมืองเขมร ใช้นุ่งห่มทั้งไพร่ผู้ดี ทั่วไปเป็นพื้น ไทยมาใช้เป็นผ้าบอกเครื่องยศดูเหมือนเอาอย่างเขมรมาใช้ ไม่งดงาม ไม่เป็นอย่างไทย จึงโปรดเกล้าฯ ให้งดเลิกสมปักยศตามธรรมเนียมทุกอย่างนั้นเสีย โปรดเกล้าฯ ให้พระบรมราชวงศ์ และขุนนางทั้งปวงนุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงินแก่แทนสมปักและสวมเสื้อต่างๆ ตามเวลา
          ผ้าม่วงสีน้ำเงินแก่ ไม่ได้ทำในไทย แต่ให้ตัวอย่างสั่งทำมาแต่เมืองจีน ใช้ในไทยเท่านั้นจีนไม่ใช้นุ่งเลย ใช้เป็นผ้าสำหรับเจ้านาย และข้าราชการนุ่งห่มเป็นยศแทนสมปักอย่างเดิม เวลาเข้าเฝ้า ณ พระที่นั่ง เวลาออกแขกเมืองใหญ่หรือมีการใหญ่ พระราชทานพระกฐิน เวลาแต่งเต็มยศอย่างใหญ่ก็ให้พระบรมราชวงศานุวงศ์แต่ง
          ผ้าม่วงที่สั่งจากประเทศจีนเข้ามาใช้นั้น เป็นชื่อเมืองที่ผลิต มิได้หมายถึงสีของผ้าแต่อย่างใดเพราะนอกจากสีน้ำเงินแล้วยังมีสีเหลือง สีแดงอีกด้วย แต่อย่างไรก็ดี ผ้าสมปักก็มิได้เลิกไปเสียทีเดียว ยังมีใช้อยู่ต่อมาบ้าง ส่วนผ้ายก ผ้าเยียรบับและผ้าเข้มขาบ คงใช้ตัดเสื้ออยู่ต่อมา แต่แบบของเสื้อก็โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลงไปตามแบบยุโรปยิ่งขึ้น
          นอกจากนี้ยังมีผ้าต่างประเทศที่ใช้ในครั้งนั้นอยู่อีกบ้าง เช่น ผ้ามัสหรู่ ผ้าปัศตู ผ้ากุหร่าซึ่งมักจะนำไปใช้ตัดเป็นเสื้อและกางเกงให้ทหารกองต่างๆ อย่างไรก็ดี การใช้ผ้านี้ในบางโอกาสก็มีกฎเกณฑ์ด้วยเช่นกัน ซึ่งบางอย่างเป็นประเพณีมาแต่เดิม  และบางอย่างก็เป็นความเชื่อถือว่าดีเป็นมงคล เป็นต้นว่า เวลาไปฟังเทศน์ พระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายมักทรงชุดขาวเวลาออกศึกจะฉลองพระองค์ตามสีวันอย่าง ครั้งกรุงศรีอยุธยาแต่สำหรับผู้หญิงที่มิได้ไปศึกสงคราม ก็มีการนุ่งห่มใช้สีสันไปอีกแบบหนึ่งโดยเฉพาะ  อย่างหญิงสาวชาววังนั้นนิยมนุ่งห่มด้วยสีตัดกัน ไม่นิยมใช้สีเดียวกันทั้งผ้านุ่งและสไบ ดังนี้
          วันจันทร์ นุ่งเหลืองอ่อน ห่มน้ำเงินอ่อน หรือห่มสีบานเย็น นุ่งสีน้ำเงินนกพิราบ ห่มจำปาแดง (สีดอกจำปาแก่ๆ)
          วันอังคาร นุ่งสีปูนหรือม่วงเม็ดมะปราง ห่มสีโศก (สีเขียวอ่อนอย่างสีใบโศกอ่อน) นุ่งสีโศกหรือเขียวอ่อน ห่มม่วงอ่อน
          วันพุธ  นุ่งสีตะกั่วหรือสีเหล็ก ห่มสีจำปา
          วันพฤหัสบดี นุ่งเขียวใบไม้ ห่มแดงเลือดนก นุ่งแสด ห่มเขียวอ่อน
          วันศุกร์ นุ่งน้ำเงินแก่ ห่มเหลือง
          วันเสาร์  นุ่งม่วงเม็ดมะปราง ห่มสีโศก นุ่งผ้าลายพื้นม่วง ห่มสีโศก
          วันอาทิตย์ จะแต่งเหมือนวันพฤหัสบดีก็ได้คือ นุ่งเขียวห่มแดง หรือนุ่งผ้าลายพื้นสีลิ้นจี่ หรือสีเลือดหมู ห่มสีโศก
          เวลาไว้ทุกข์ นุ่งผ้าลายพื้นม่วง ห่มสีนวล
          ผู้หญิงชาววังคงนิยมนุ่งดังนี้เรื่อยมา คนไทยมิได้ใช้สีดำเป็นสีไว้ทุกข์แต่อย่างใด คนไทยมานิยมตามแบบยุโรป คือใช้สีดำล้วนเมื่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘  พวกที่มิได้อยู่ภายในวังก็มิได้ปฏิบัติตามความนิยมที่ใช้สีนุ่งห่มประจำวัน คือ อยากจะนุ่งห่มสีอะไรก็ได้ หรือใช้สีเดียวกันทั้งชุดก็ได้ไม่มีกฎเกณฑ์แต่อย่างใด

         
ผ้าที่นิยมใช้กันตลอดมา ได้แก่ ผ้าไหม รัชกาลที่ ๕ ทรงพยายามสนับสนุนการทอผ้าไหมขึ้นอีกใน พ.ศ. ๒๔๕๒ ทรงสถาปนากรมช่างไหมขึ้นมีกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม (พระองค์เจ้าเพ็ญ พัฒนพงศ์) เป็นอธิบดีกรมช่างไหม และโปรดเกล้าฯให้ตั้งโรงเรียนช่างไหมขึ้น ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนเกษตร ที่วังใหม่สระปทุม กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมทรงสนพระทัย ได้ขยายโรงเรียนช่างไหมออกไปที่จังหวัดนครราชสีมาและ บุรีรัมย์  โปรดเกล้าฯ ให้จ้างชาวญี่ปุ่นมาเป็นครูช่างไหมด้วยเพราะราษฎรญี่ปุ่นนิยมเลี้ยงไหมเป็น อุตสาหกรรมในครัวเรือนของชาวนา พันธุ์หม่อนและพันธุ์ไหมของญี่ปุ่น มีคุณภาพต่างกับของไทยคือ พันธุ์ไหมไทยเส้นไหมสีเหลืองที่เรียกชื่อทางวิชาการว่า ทุสซาห์ ซิลก์ (Tussah silk) และสั้นกว่าไหมญี่ปุ่นที่ชื่อ บอนบิกซ์ โมริ (Bonbyx Mori) ซึ่งมีเส้นไหมสีขาวเกือบครึ่ง พันธุ์หม่อนของญี่ปุ่นมีใบใหญ่และดกกว่าหม่อนไทย ทั้งมีหลายชนิด เลือกปลูกให้เหมาะแก่ท้องถิ่นได้ดี พระองค์โปรดให้จัดสร้าง เครื่องสาวไหมแบบญี่ปุ่น ซึ่งสาวไหมได้รวดเร็วและได้เส้นไหมที่สม่ำเสมอดีกว่าเครื่องสาวไหมไทย ใน ร.ศ. ๑๒๘ (พ.ศ. ๒๔๕๒) โปรดเกล้าฯ ให้แจกจ่ายเครื่องสาวเส้นไหม ๔๐๘ เครื่อง ดังนั้นการเลี้ยงไหมและการทอผ้าไหมแบบพื้นเมืองได้ดัดแปลงตามแบบญี่ปุ่น ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมสิ้นพระชนม์แล้วก็ไม่มีผู้ใดส่งเสริม  โรงเรียนช่างไหมก็ล้มเลิกไป
          ในรัชกาลที่ ๖ ประเพณีการใช้ผ้าเป็นเครื่องแต่งกายทั้งของบรรดาเจ้านายและประชาชนทั่วไปก็ ยังคงใช้สืบต่อมา  เจ้านายทรงผ้ายกหรือผ้าลายเขียนทอง แม้ว่าคนส่วนมากยังแต่งตัวแบบเก่าๆแต่ก็มีพวกเจ้านายและประชาชนที่เป็นพวก สมัยใหม่บางกลุ่มเริ่มแต่งตัวอย่างตะวันตกกันบ้างแล้ว ผู้หญิงเลิกนุ่งโจงกระเบนหรือผ้าจีบหน้านาง หันมานุ่งถุงสำเร็จ ส่วนสไบนั้นก็มิได้เลิกเสียทีเดียวแต่สวมเสื้อผ้าดอกลูกไม้แขนยาวทรงกระบอก หรือทรงขาหมูแฮม และใช้สไบพาดทับเสื้ออีกทีหนึ่ง ผู้ชายก็นิยมนุ่งกางเกงและสวมเสื้ออย่าง ชาวตะวันตกความนิยมนี้มีมากขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ และในกาลต่อมาก็นิยมแต่งแบบตะวันตกกันทั่วไปทั้งผู้ชายและผู้หญิงดังเช่น ปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ จึงนิยมใช้ผ้าที่สั่งเข้ามาจากต่างประเทศมากกว่าผ้าทอในเมืองไทย
          ผ้าไทยแม้จะตกต่ำไปบ้างในบางเวลาก็ยังเป็นที่นิยมอยู่ตลอด เวลา ในปัจจุบันกล่าวได้ว่า ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงสนพระราชหฤทัยสนับสนุนการทอผ้าพื้นเมือง โดยเฉพาะ การทอผ้ามัดหมี่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้แพร่หลายเป็นที่รู้จักอย่างมาก ทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นผลให้เกิดการตื่นตัวที่จะอนุรักษ์และพัฒนาการ ทอผ้าพื้นเมืองในภูมิภาคอื่นๆ ของไทยเราให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น เป็นที่นิยมของคนไทย ซื้อหานำมาใช้โดยทั่วไปอีกโสดหนึ่งด้วย
          ข้อความแต่โบราณที่ว่า "ผู้หญิงทอผ้า" นั้นเหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนไทย เพราะแสดงถึงวัฒนธรรมอันสูงส่งที่ไทยเรามีบรรพบุรุษซึ่งปราดเปรื่อง คิดประดิษฐ์กรรมวิธีการทอผ้า ทั้งผ้าฝ้าย และผ้าไหมได้อย่างดีเลิศ และคิดวิธีได้หลากหลายไม่ว่าจะทอผ้าพื้น หรือทอให้เกิดลวดลายต่างๆ ด้วยวิธีที่เรียกว่า ยก จก ขิด มัดหมี่ และล้วง เป็นต้น และวัฒนธรรมนี้ได้รับการสืบทอดต่อมานานนับร้อยพันปี จนเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น

อาหารไทยในยุครัตนโกสินทร์
สมัยรัตนโกสินทร์
ยุคที่ 1 (พ.ศ. 2325 – พ.ศ. 2394)
        อาหารไทยในยุคนี้เป็นลักษณะเดียวกันกับสมัยธนบุรี แต่มีอาหารไทยเพิ่มขึ้นอีก 1 ประเภท คือ นอกจากมีอาหารคาว อาหารหวานแล้วยังมีอาหารว่างเพิ่มขึ้น ในช่วงนี้อาหารไทยได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอาหารของประเทศจีนมากขึ้น และมีการปรับเปลี่ยนเป็นอาหารไทย ในที่สุด จากจดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ที่กล่าวถึงเครื่องตั้งสำรับคาวหวานของพระสงฆ์ ในงานสมโภชน์ พระพุทธมณีรัตนมหาปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ได้แสดงให้เห็นว่ารายการอาหารนอกจากจะมีอาหารไทย เช่น ผัก น้ำพริก ปลาแห้ง หน่อไม้ผัด แล้วยังมีอาหารที่ปรุงด้วยเครื่องเทศแบบอิสลาม และมีอาหารจีนโดยสังเกตจากการใช้หมูเป็นส่วนประกอบ เนื่องจากหมูเป็นอาหารที่คนไทยไม่นิยม แต่คนจีนนิยม
                บทพระราชนิพนธ์กาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงกล่าวถึงอาหารคาวและอาหารหวานหลายชนิด ซึ่งได้สะท้อนภาพของอาหารไทยในราชสำนักที่ชัดเจนที่สุด ซึ่งแสดงให้เห็นลักษณะของอาหารไทยในราชสำนักที่มีการปรุงกลิ่น และรสอย่างประณีต และให้ความสำคัญของรสชาติอาหารมากเป็นพิเศษ และถือว่าเป็นยุคสมัยที่มีศิลปะการประกอบอาหารที่ค่อนข้างสมบูรณ์ที่สุด ทั้งรส กลิ่น สี และการตกแต่งให้สวยงามรวมทั้งมีการพัฒนาอาหารนานาชาติให้เป็นอาหารไทย
                จากบทพระราชนิพนธ์ทำให้ได้รายละเอียดที่เกี่ยวกับการแบ่งประเภทของอาหารคาวหรือกับข้าวและอาหารว่าง ส่วนทีเป็นอาหารคาวได้แก่ แกงชนิดต่างๆ เครื่องจิ้ม ยำต่างๆ สำหรับอาหารว่างส่วนใหญ่เป็นอาหารว่างคาว ได้แก่ หมูแนม ล่าเตียง หรุ่ม รังนก ส่วนอาหารหวานส่วนใหญ่เป็นอาหารที่ทำด้วยแป้งและไข่เป็นส่วนใหญ่ มีขนมที่มีลักษณะอบกรอบ เช่น ขนมผิง ขนมลำเจียก และมีขนมที่มีน้ำหวานและกะทิเจืออยู่ด้วย ได้แก่ ซ่าหริ่ม บัวลอย เป็นต้นนอกจากนี้ วรรณคดีไทย เรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งถือว่าเป็นวรรณคดีที่สะท้อนวิถีชีวิตของคนในยุคนั้นอย่างมาก รวมทั้งเรื่องอาหารการกินของชาวบ้าน พบว่ามีความนิยมขนมจีนน้ำยา และมีการกินข้าวเป็นอาหารหลัก ร่วมกับกับข้าวประเภทต่างๆ ได้แก่ แกง ต้ม ยำ และคั่ว อาหารมี ความหลากหลายมากขึ้น ทั้งชนิดของอาหารคาว และอาหารหวาน สมัยรัตนโกสินทร์
ยุคที่ 2 (พ.ศ. 2394 - ปัจจุบัน)
                ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างมาก และมีการตั้งโรงพิมพ์แห่งแรกในประเทศไทย ดังนั้น ตำรับอาหารการกินของไทยเริ่มมีการบันทึกมากขึ้น โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 5 เช่นในบทพระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้าน จดหมายเหตุ เสด็จประพาสต้น เป็นต้น และยังมีบันทึกต่างๆ โดยผ่านการบอกเล่าสืบทอดทางเครือญาติ และบันทึกที่เป็นทางการอื่น ๆ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ ได้สะท้อนให้เห็นลักษณะของอาหารไทย ที่มีความหลากหลายทั้งที่เป็น กับข้าวอาหารจานเดียว อาหารว่าง อาหารหวาน และอาหารนานาชาติ ทั้งที่เป็นวิธีปรุงของราชสำนัก และวิธีปรุงแบบชาวบ้านที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า อาหารไทยบางชนิดในปัจจุบัน ได้มีวิธีการปรุงหรือส่วนประกอบของอาหารผิดเพี้ยนไปจากของดั้งเดิม จึงทำให้รสชาติของอาหารไม่ใช่ตำรับดั้งเดิม และขาดความประณีตที่น่าจะถือว่าเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของอาหารไทย

พระพุทธศาสนาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
           เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีสวรรคตแล้ว สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกแม่ทัพเอกของไทย ได้ขึ้นเสวยราชสมบัติเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๕ ตั้งพระราชวงศ์จักรีขึ้นโปรดให้ย้ายราชธานีมาอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา คือ กรุงเทพพระมหานครของประเทศไทยบัดนี้ ทำพิธีปราบดาภิเษกเฉลิมพระนามาภิธัยว่า " พระบาทสมเด็จพระ บรมราชาธิราชรามาธิบดีฯ ซึ่งรู้จักทั่วไปว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงอยู่ในราชสมบัติตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๒๕-๒๓๕๒ รัชสมัยนี้ นอกจากงานศึกสงครามป้องกันราชอาณาจักรแล้ว ทรงตั้งพระทัยที่จะสร้าง กรุงเทพฯ ให้รุ่งเรืองเหมือนครั้งกรุงศรีอยุธยา โปรดให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามในเขตพระราชฐาน ประดิษฐานพระพุทธรัตนปฏิมากรแก้วมรกต ซึ่งมีลักษณะวิจิตรพิสดารมาก และบูรณะปฏิสังขรณ์พระอารามในกรุงอีกหลายวัด โปรดให้รวบรวมอัญเชิญพระพุทธรูปโบราณ บรรดาที่ชำรุดทรุดโทรมจากหัวเมืองต่างๆ มีอยุธยา ลพบุรี พิษณุโลก สุโขทัย สวรรคโลก เป็นต้น จำนวน ๑๒๔๘ องค์ ให้มาปฏิสังขรณ์ เก็บรักษาไว้ในพระอารามที่ ทรงสร้างและบูรณะ และพระราชทานให้กับวัดอื่นๆ ตามสมควร เมื่อพ.ศ. ๒๓๓๑ โปรดให้ประชุมพระมหาเถรานุเถระ มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานชำระสังคายนาพระไตรปิฎก ณ วัดพระศรีสรรเพ็ชรญาดาราม (คือ วัดมหาธาตุในปัจจุบันนี้) ในปี พ.ศ. ๒๓๓๑ สิ้นเวลา ๕ เดือนก็สำเร็จบริบูรณ์ โปรดให้สร้างพระไตรปิฎกตามที่ได้ สังคายนาไว้ในครั้งนั้นเป็นหลักฐาน ปิดทองทึบทั้งใบปกหน้าและกรอบ เรียกว่าฉบับทอง (ต่อมาเรียกกันว่าฉบับ ทองใหญ่) เป็นหนังสือใบลาน ๓๖๘๖ ผูก และสร้างพระไตรปิฎกชุดอื่น ๆ พระราชทานให้เป็นที่เล่าเรียนตามอารามต่าง ๆ อีกมาก
           ลุถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ (พ.ศ.๒๓๕๒-๒๓๖๗) โปรดให้ส่ง สมณทูตไปเจริญศาสนสัมพันธ์กับลังกา และโปรดให้จัดการศึกษาพระปริยัติธรรมเป็น แบบ ๙ ประโยค และทรง สถาปนาบำรุงพระสถูปวิหารอารามต่างๆ อีกมาก ลุถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ (พ.ศ. ๒๓๖๗-๒๓๙๔) มีวัดเกิดขึ้นมากในแผ่นดินนี้ทั้งในกรุงและตามหัวเมือง ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนเพื่อให้เป็นมหาวิทยาลัยของสรรพวิชาซึ่งมีอยู่ในสมัยนั้น โดยทรงให้ จารึกลงบนแผ่นหิน ติดไว้ตามผนังระเบียงศาลาในบริเวณวัด เพื่อการศึกษาของประชาชน อนึ่งพระมหาธาตุ เจดีย์ วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) บนฝั่งธนบุรี เป็นของเก่าเดิมเมื่อรัชกาลที่ ๒ ได้เริ่มบูรณะเสริมไว้ การมาสำเร็จสมบูรณ์ เมื่อรัชกาลที่ ๓ นี้ นับเป็นพระปรางค์สวยงามที่สุดในประเทศไทย ทรงโปรดให้พระเถระและราชบัณฑิต แปลพระไตรปิฎกและปกรณ์วิเศษออกเป็นภาษาไทยเพื่อแพร่หลายความรู้ จึงเกิดหนังสือพระไตรปิฎก แปลในรัชกาลนี้หลายเรื่อง ได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น อีกอย่างหนึ่งคือเจ้าฟ้ามงกุฏฯ พระอนุชาซึ่งผนวชเป็น พระภิกษุตามพระราชประเพณี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๗ และทรงผนวชอยู่ถึง ๒๗ พรรษามีฉายาว่า " วชิรญาณมหาเถระ" ทรงศึกษารอบรู้แตกฉานในพระไตรปิฎกอรรถกถา ฎีกาและภาษาสันสกฤต ภาษาอังกฤษได้ตั้งนิกายธรรมยุตติกวงศ์ขึ้น เมื่อพ.ศ. ๒๓๗๒ นิกายนี้ได้เจริญมาตามลำดับจนทุกวันนี้ คณะสงฆ์เดิมซึ่งมีปริมาณมากจึงมีชื่อ เรียกว่า "มหานิกาย" สังฆมณฑลไทยจึงมี ๒ นิกายแต่บัดนั้นมา วรรณกรรมทางศาสนาภาษาไทยที่สำคัญ ในรัชกาลที่ ๓ ก็มีพระปฐมสมโพธิกถา แปลและชำระโดยกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพน เป็นต้น

ประติมากรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์
                พุทธศตวรรษที่ 25 - ปัจจุบัน ศิลปะรัตนโกสินทร์ในตอนต้น เป็นการสืบทอดมาจากสกุลช่างอยุธยา ไม่ว่าจะเป็น การเขียนลายรดน้ำ ลวดลายปูนปั้น การแกะสลักไม้ เครื่องเงิน เครื่องทอง การสร้างพระพุทธรูป ล้วนแต่สืบทอดความงามและวิธีการ ของศิลปะอยุธยาทั้งสิ้น ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีการติดต่อกับชาวต่างชาติ มากขึ้นโดยเฉพาะชาติตะวันตก ทำให้ลักษณะศิลปะตะวันตกหลั่งไหลเข้าสู่ ประเทศไทย และมีอิทธิพลต่อศิลปะไทยในสมัยต่อมา หลังจากการเสด็จประ พาสยุโรปทั้ง 2 ครั้งของ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้มีการนำเอาแบบอย่าง ของศิลปะตะวันตกเข้ามาผสมผสานกับศิลปะไทย ทำให้ศิลปะไทยแบบ ประเพณี ซึ่งเป็นแบบดั้งเดิม มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปเป็นศิลปะไทย แบบร่วมสมัย ในที่สุด ลักษณะของพระพุทธรูปเน้นความเหมือนจริงมากขึ้น เช่น พระศรีศากยทศพลญาณ ฯ พระประธานพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เป็นพระพุทธรูปปางลีลาโดยการผสมผสานความงามแบบสุโขทัยเข้ากับความ เหมือนจริง เกิดเป็นศิลปะการสร้างพระพุทธรูปในสมัยรัตนโกสินทร์